วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง

การเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

ปลาหางนกยูงมีวัยเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุเพียง 3 เดือน ดังนั้นเมื่อลูกปลาโตพอที่จะแยกเพศได้ (อายุ 1-1.5 เดือน ) ควรเลี้ยงแยกเพศไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาผสมพันธุ์กันเอง การเลี้ยงปลาหางนกยูงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ควรเลี้ยงบริเวณที่มีแสงแดดส่อง ถึงในตอนช่วงเช้าหรือเย็น ถ้าเลี้ยงกลางแจ้งควรใช้ตาข่ายบังแสงส่องผ่าน 25-40% ภาชนะที่ใช้เลี้ยงใช้ได้ทั้งอ่างซีเมนต์หรือตู้กระจก ควรมีอุปกรณ์เพิ่มออกซิเจนในน้ำตลอดเวลา น้ำที่ใช้เลี้ยงควรเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ที่เหมาะสมประมาณ 6.8 ควรมีอุปกรณ์เพิ่มออกซิเจนในน้ำตลอดเวลา และมีอุณหภูมิน้ำ 25-29 องศาเซลเซียส

อาหาร ที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ลูกน้ำ ไรแดง ไรสีน้ำตาล หรือหนอนแดง หรืออาจจะเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปที่มีปริมาณโปรตีนไม่ต่ำกว่า 40 % อาหารสดก่อนให้ทุกครั้ง ควรฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารโดยการแช่ในด่างทับทิมเข้มข้น 0.5-1.0 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ประมาณ 10-20 วินาที ปริมาณอาหารสดควรให้วันละ 10% ของน้ำหนักตัวหรือให้กินแต่พออิ่ม ส่วนอาหารแห้งให้วันละ 2-4 % ของน้ำหนักตัวปลา โดยให้วันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็น การถ่ายเทน้ำควรทำทุกวัน โดยดูดน้ำในตู้ออกวันละประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำในตู้ แล้วเติมน้ำให้เท่าระดับเดิม

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
การคัดเลือกปลาเพศผู้และเพศเมียเพื่อทำการผสม ควรเลือกปลาที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป มีลักษณะลำตัวมีขนาดใหญ่ หนาสมส่วน ไม่คดงอ โคนหางใหญ่ แข็งแรงครีบสมบูรณ์ ครีบหางใหญ่ พริ้วหนา แข็งแรงสมบูรณ์ไม่ฉีกขาด รูปร่างได้สัดส่วน แข็งแรง ว่ายน้ำปราดเปรียว มีสีและลวดลายสวยงาม เพศผู้จะมีลักษณะต่างจากเพศเมียตรงที่อวัยวะในการสืบพันธุ์เรียกว่า gonopodium ซึ่งดัดแปลงมาจากครีบก้น ปลาเพศผู้และเพศเมีย ควรมีลักษณะสีและลวดลายที่เหมือนกันหรือคล้ายกันมากที่สุด เพื่อให้ได้ลูกปลาที่ลักษณะไม่แปรปรวนมากในการผสมพันธุ์ หากจำเป็นต้องเก็บลูกปลาที่เพาะไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในครั้งต่อไป ควรหาพ่อแม่ปลาจากแหล่งอื่นมาผสมบ้าง เพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด (Inbreeding) ซึ่งเป็นสาเหตุให้ลูกปลารุ่นต่อๆ ไป มีความอ่อนแอและมีอัตราการรอดต่ำ

การผสมพันธุ์

คัดเลือกปลาเพศผู้และเพศเมียตามลักษณะที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วใส่เลี้ยงรวมกันในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับเพาะพันธุ์ ซึ่งจะเป็นอ่างซีเมนต์หรือตู้กระจกก็ได้ ในอัตราส่วนปลาเพศผู้ 2 ตัว ต่อปลาเพศเมีย 5 ตัว โดยปล่อยในอัตราส่วนเพศผู้ 10 ตัว ต่อ ปลาเพศเมีย 25ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร เมื่อปลาจะผสมพันธุ์กัน ปลาเพศผู้จะว่ายไปใกล้ปลาเพศเมีย และจะปล่อยน้ำเชื้อผ่านทางอวัยวะช่วยในการสืบพันธุ์ไปเก็บไว้ในท่อนำไข่ของ ปลาเพศเมีย (น้ำเชื้อของปลาเพศผู้สามารถเก็บไว้ในท่อนำไข่ได้นานถึง 8 เดือน) จากนั้น ปลาเพศเมียจะใช้เวลาฟักในท้องนานประมาณ 22 - 30 วัน จึงจะฟักออกเป็นตัว เมื่อลูกปลาออกจากท้องแม่หมดควรนำลูกปลาออก เพื่อป้องกันไม่ให้แม่ปลากินลูกปลาที่เกิดมาใหม่ จำนวนลูกปลาแต่ละครอกอาจมีมากถึง 200 ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา แต่โดยเฉลี่ยจะมีประมาณ 40-50 ตัว ในการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงเพื่อการค้า อาจปล่อยพ่อแม่ปลาให้ผสมพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ แล้วคอยตักลูกปลาออกทุก ๆ วัน หรืออาจจะปล่อยพ่อแม่ปลาผสมพันธุ์ในกระชัง หรือตระแกรงที่มีขนาดช่องตาที่ลูกปลาสามารถลอดออกมาได้โดยแขวนกระชังหรือ ตะแกรงดังกล่าวไว้ในบ่อซีเมนต์ เมื่อลูกปลาว่ายออกจากกระชัง สามารถแยกออกไปปล่อยในบ่ออนุบาลได้

การอนุบาลลูกปลา

ลูกปลาที่เกิดใหม่ในระยะแรกให้ไรแดงหรือไรสีน้ำตาลที่ฟักออกใหม่ๆ เป็นอาหาร โดยให้ในปริมาณที่ลูกปลากินอิ่มพอดี วันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้า - เย็น ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงเปลี่ยนอาหารให้ลูกน้ำแทนหรืออาหารสำเร็จรูป ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ ? ของตู้ทุกวัน และเมื่อลูกปลาอายุประมาณ 1 – 1 ? เดือน ควรจะเลี้ยงแยกเพศ เพื่อป้องกันไม่ให้ผสมพันธุ์กันเอง

โรคที่พบในปลาหางนกยูงและวิธีรักษา


1. โรคจุดขาว (White spot disease) เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว ชื่อ lchthyophthirus multifilis หรือชื่อย่อว่า lch (อิ๊ค)อิ๊คเข้าเกาะตัวปลาและฝังตัวที่ผนังชั้นนอกของปลา สร้างความระคายเคืองปลาจะสร้างเซลล์ผิวหนังหุ้มอิ๊ค ทำให้เห็นเป็นจุดสีขาว ยังไม่มีวิธีการกำจัดอิ๊คที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง แต่วิธีการที่ได้ผล คือ การทำลายตัวอ่อนในน้ำ สารเคมีที่ใช้ได้ผลดี คือ ฟอร์มาลิน 25 - 30 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ผสมกับมาลาไค้ท์กรีน 0.1 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ทิ้งไว้ตลอด และควรจะแช่น้ำซ้ำอีก 3 - 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 7 วัน จะให้ผลดีมาก โดยเฉพาะเมื่อน้ำมีอุณหภูมิประมาณ

28- 30 องศาเซลเซียส


2. โรคที่เกิดจากปลิงใส เกิดจากปรสิตตัวแบน 2 ชนิด คือ Gyrodactylus และ Dactylogyrus มักพบตามบริเวณเหงือกและผิวหนัง การรักษาใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 40 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร หรือดิพเทอร์เร็กซ์เข้มข้น 0.25-0.5 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ทิ้งไว้ตลอดไป
3. โรคที่เกิดจากหนอนสมอ (Lerneae sp.) หนอน สมอมีลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนหัวคล้ายสมอทำหน้าที่ยึดเกาะกับตัวปลา การรักษาใช้ดิพเทอร์เรกซ์เข้มข้น 0.25-0.50 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ทิ้งไว้ตลอด แล้วแช่ซ้ำ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน
4. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เกิดจากพวกแบคทีเรียสกุลAeromonas และ seudomonas อาการที่พบ คือ ครีบและหางกร่อน ท้องบวมน้ำ เกล็ดพอง รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไนโตรฟูราโซน 1 -2 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ปลานาน 2 -3 วัน ออกซีเตตร้าไซคลินหรือเตตร้าซัยคลินผสมลงในน้ำในภาชนะที่เลี้ยงในอัตรา 10 - 20 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือจะใช้เกลือแกง 0.5-1% ก็ได้

ที่มา: การเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง. สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ. (March, 2010)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น