ลักษณะมาตรฐานของสายพันธุ์ปลาหางนกยูง
ปลาสวยงาม การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม
ปลาหางนกยูง Poecilia reticulate (Peters, 1959) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีลักษณะเด่นคือ ลำตัวและครีบมีลวดลายและสีสันหลากหลายรูปแบบสดสวยสะดุดตา ครีบหางมีขนาดใหญ่มาก โดยเฉพาะในปลาเพศผู้ ซึ่งนอกจากจะมีครีบหางที่ยาวเป็นพวง พลิ้วแผ่กว้างสวยงามขณะว่ายน้ำแล้ว ยังมีลักษณะรูปร่างของครีบหางแตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบ ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงได้พยายามใช้หลักวิชาการ ทางด้านพันธุกรรมดำเนินการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่นตามความต้อง การมาเพาะพันธุ์จนได้ปลาหางนกยูงสายพันธุ์ที่แปลกใหม่และสวยงามอีกมากมาย หลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะเน้นความสำคัญที่ รูปแบบของครีบหาง ลักษณะลวดลายและสีของลำตัว และ/หรือลวดลายและสีของครีบ เช่น
Blue cobra guppy หมายถึง ปลาที่มีสีฟ้าและมีลวดลายบนลำตัวคล้ายหนังงู
Yellow tuxedo guppy หมายถึง ปลาที่มีสีเหลืองและมีลำตัวส่วนท้ายสีดำ
Full yellow guppy หมายถึง ปลาที่มีสีเหลืองทองทั้งตัว
Multicolor platinum guppy หมายถึง ปลาที่มีหลายสีและมีลำตัวเป็นสีเงินสะท้อนแสง
Snakeskin red tail หมายถึง ปลาที่ลำตัวมีลายจุดคล้ายหนังงูและครีบหางมีสีแดง
ลักษณะมาตรฐานของสายพันธุ์ปลาหางนกยูงเพศผู้
ปลา หางนกยูงเพศผู้มีลักษณะ สีสันและลวดลายสวยงามกว่าปลาเพศเมียมาก กล่าวคือจะมีครีบยาวและแผ่กว้างกว่า สีจะเข้มกว่า ลวดลายจะชัดเจนและเข้มสะดุดตากว่า ปลาเพศผู้จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงและได้รับการพัฒนาปรับปรุง เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา สายพันธุ์ต่างๆ ของปลาหางนกยูงที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ ได้แก่
1. สายพันธุ์โมเสคหรือชิลี (Mosaic/Chili)
- ลำตัวจะมีสีใดก็ได้ แต่ต้องไม่มีลวดลาย อาจมีความเงาแวววาว (แพลททีนั่ม) ได้
- ครีบหางมีลวดลายแบบโมเสค โดยลวดลายจะมีลักษณะเป็นแต้มใหญ่ ครีบหางอาจจะมีสีแดง เหลือง น้ำเงิน หรือสีใดก็ได้
- ครีบหลังควรมีลวดลายและสีที่สอดคล้องกับครีบหาง
2. สายพันธุ์ทักซิโด้ (Tuxedo/Half black)
- ลำ ตัวจากบริเวณกึ่งกลางลำตัวไปสุดโคนหางมีสีดำหรือน้ำเงินเข้ม ลำตัวอาจจะมีความแวววาว (แพลททีนั่ม) ได้ แต่ส่วนของแพลททีนั่มไม่ควรปนเปื้อนอยู่ในช่วงสีดำ
- ครีบหางอาจเป็นสีพื้นหรือมีลวดลาย
- ครีบหลังควรมีสีและลวดลายที่สอดคล้องกับครีบหาง
3. สายพันธุ์กราซ (Glass/Grass)
- ลำตัวมีสีก็ได้ แต่ไม่ควรมีลายหรือแถบสี สีที่พบมาก ได้แก่ สีขาวงาช้าง สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีแดง- พื้นครีบหางมีสีอ่อน ค่อนข้างโปร่งแสง มีจุดหรือแต้มขนาดเล็ก กระจายทั่วหางและมีขนาดของจุดหรือแต้มสม่ำเสมอกัน ในสายพันธุ์บลูกราสไม่ควรมีสีเหลืองแทรกที่ครีบหาง และครีบหางไม่หางไม่ควรมีขอบสีดำหรือสีอื่นๆ
- ครีบหลังควรมีสีและลวดลายที่สอดคล้องกับครีบหาง
4. สายพันธุ์คอบบร้าหรือสเน็คสกิน (Cobra or Snake skin)
- ลำตัวมีลายจุดคล้ายหนังงู ไม่ควรเป็นลายแถบแบบม้าลาย
- ครีบหางมีลาย ส่วนมากจะเป็นสีน้ำเงิน เหลือง แดง หรืออาจจะเป็นสีเดี่ยวก็ได้
- ครีบหลังควรมีสีและลวดลายสอดคล้องกับครีบหาง ครีบหลังอาจจะมีขนาดเล็กกว่าครีบหลังของสายพันธุ์อื่นๆ
หมายเหตุ สายพันธุ์กาแลคซี่และเมทเทิลจัดอยู่ในกลุ่มคอบบร้าได้ แต่สายพันธุ์เมดดูซ่า จะไม่จัดอยู่ในกลุ่มคอบคร้า
5. สายพันธุ์โซลิค (Solic)
- ลำตัวมีสีเดี่ยวสีใดก็ได้ ยกเว้นสายพันธุ์โซลิคที่มีลักษณะทักซิโด้
- ครีบหางและครีบหลังไม่ควรมีจุดหรือลวดลาย
- ครีบหลังควรมีสีสอดคล้องกับครีบหาง
หมายเหตุ สายพันธุ์ที่จัดอยู่ในพวกโซลิด ได้แก่ มอสโคบลู (Moscow blue) อเมริกันเรดเทล (American blue tail) อเมริกันพิงค์ไวค์ (America pink) อเมริกันพาสเทล (American pastel) ฟามิงโก้ (Flamingo) โกลล์เด็นโซลิด (Golden solid) มิคาริฟ (Micariff) เรนโบว์ (Rainbow) และซันเซ็ท (Sunset)
6. สายพันธุ์ริบบอน (Ribbon)
- ครีบทุกครีบยาวและควรมีขนาดยาวใกล้เคียงกัน
- ครีบหางควรยาวกว่าลำตัว
- ลักษณะอื่นๆ ต้องมีลักษณะถูกต้องตามสายพันธุ์นั้นๆ
หมายเหตุ ในการส่งปลาเข้าประกวดควรมีตัวผู้และตัวเมียริบบอนอย่างล่ะ 1 ตัว (การให้คะแนนตัวผู้ 90 คะแนน และตัวเมีย 10 คะแนน)
7. สายพันธุ์สวอลโล (Swallow)
- ครีบทุกครีบต้องมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และครีบทุกครีบมีการแตกแขนงได้สัดส่วน
- ลักษณะอื่นๆ ต้องมีลักษณะถูกต้องตามสายพันธุ์นั้นๆ
8. สายพันธุ์แอลบิโน่ (Albino)
- ตามีสีแดง หรือชมพู หรือม่วง
- สีลำตัว ครีบหลังและครีบหางต้องมีลักษณะถูกต้องตามสายพันธุ์นั้นๆ
9. สายพันธุ์อิสระ (Open)
- เป็นปลาที่ไม่จัดอยู่ใน 8 สายพันธุ์ข้างต้น หรือไม่จัดเข้าในรายการประกวดแต่ละครั้ง เช่น สายพันธุ์พิงค์กุ (Pinku) สายพันธุ์เมดดูซ่า (Medusa) สายพันธุ์หางดาบ (Swordtail) สายพันธุ์เอ็นเลอร์กัพพี (Endler’s guppy) หรือปลาหางนกยูง wild strains อื่นๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น