การดูแลรักษา
การดูแลรักษาตู้ปลา
การเลี้ยงปลาตู้ เพื่อให้คงความสวยงามอยู่ตลอดไปนั้น ควรจะต้องเอาใจใส่ดูแลรักษาอุปกรณ์พันธุ์ไม้น้ำและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มีอยู่ภายในตู้ปลาเพื่อมิให้เกิดความสกปรก หลักสำคัญในการดูแลรักษาที่ถูกต้อง มีดังนี้
ควรหมั่นตรวจเช็คดูรอยรั่วซึม บริเวณรอยต่อกระจกไม่ว่าจะเป็นตู้ปลาแบบเก่า หรือแบบใหม่ เพราะมักพบว่ามีรอยรั่วซึมของน้ำอยู่เสมอ สาเหตุเกิดจากชันหรือกาวซิลิโคนเสื่อมคุณภาพ หรือบริเวณที่ติดตั้งตู้ปลาได้รับแสงแดดและความร้อนจัด หรือเกิดจากการกระทบกระแทกกับวัตถุอื่น ๆ จึงควรระมัดระวัง แต่ถ้าตู้ปลาเกิดการรั่วซึมต้องปล่อยน้ำทิ้งให้หมด เช็ดทำความสะอาดแล้วผึ่งลมให้แห้งสนิท จากนั้นก็นำมาซ่อมแซมโดยการใช้ชัน หรือกาวซิลิโคนทารอยรั่วให้เรียบร้อย ปล่อยทิ้งไว้นานพอประมาณ จนมั่นใจว่าติดสนิทดีแล้วจึงใส่น้ำลงตู้ปลา สังเกตรอยรั่วซึมของน้ำอีกครั้ง ถ้าไม่มีรอยรั่วซึมแล้วจึงเริ่มจัดตู้ปลาพร้อมปล่อยปลาลงได้
การดูแลรักษาเครื่องกรองน้ำ
เมื่อใช้เครื่องกรองน้ำไปได้ระยะหนึ่ง ประสิทธิภาพการกรองสิ่งสกปรกต่าง ๆ ก็จะลดลง ไม่สามารถแยกสิ่งสกปรกภายในตู้ปลาได้ดีเท่าที่ควรอันเป็นเหตุให้สภาพของน้ำไม่สะอาดพอ จึงจำเป็นต้องคอยดูแลรักษาความสะอาดของตู้ปลา ให้ดีอยู่เสมอ ดังนี้
- ควรใช้สายยางดูดเอาสิ่งสกปรกต่าง ๆ ภายในตู้ปลาอยู่เสมอ
- ควรเลี้ยงปลาจำพวก catfish หรือปลาเทศบาล ช่วยเก็บเศษอาหารอีกด้านหนึ่ง
- ทำความสะอาดระบบกรองน้ำใต้ทราย เช่น แผ่นกรอง หลอดพ่นน้ำ และตรวจเช็คอุปกรณ์บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผ่นกรองน้ำอยู่เสมอ
การดูแลรักษาโลหะที่สัมผัสกับน้ำ
โลหะที่ติดมากับตู้ปลาทุกส่วนที่สัมผัสกับน้ำภายในตู้ปลานั้น บางชนิดก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิต เช่น โลหะจำพวกทองเหลืองชุบโครเมียม ตะกั่ว ดีบุก และเหล็ก ถ้าจะให้ดีควรเลือกใช้โลหะประกอบตู้ปลาที่หุ้มพลาสติกจะปลอดภัยที่สุด หากพื้นที่ตู้ปลาเป็นแผ่นเหล็ก ผู้จัดตู้ปลาควรใช้กระจกปูทับก่อนแล้วใช้ชัน หรือกาวซิลิโคนอุดยาตามซอกมุมต่าง ๆ ให้แน่นมิให้น้ำรั่วซึมลงไปได้ จะช่วยให้ปลอดภัยแก่สิ่งมีชีวิตดียิ่งขึ้นและง่ายต่อการทำความสะอาด
การดูแลรักษาพันธุ์ไม้น้ำ
ที่จำเป็นต้องคำนึงถึง คือ
1. แสง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต และเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะพันธุ์ไม้น้ำมาก เพราะแสงเป็นตัวช่วยให้เกิดปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสง เมื่อแสงสว่างผ่านน้ำลงไป แสงจะเกิดการหักเห พืชใต้น้ำจะได้รับแสงสว่างผิดจากความเป็นจริง พืชที่อยู่ในน้ำระดับต่าง ๆ ก็จะได้รับปริมาณแสงสว่างที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นการจัดตู้ปลา จึงควรคำนึงถึงทิศทางและความต้องการแสงของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดด้วย
2. อุณหภูมิภายในตู้ปลา จะมีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ไม่มากนักและค่อนข้างคงที่ ดังนั้นพันธุ์ไม้น้ำจึงไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก
3. แก๊ส ปริมาณแก๊สที่สำคัญที่สุดกับพันธุ์ไม้น้ำ คือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (co2) ซึ่งพืชทุกชนิดจำเป็นต้องใช้ในการสังเคราะห์แสง ในขณะเดียวกันพันธุ์ไม้น้ำก็คายออกซิเจน (O2) ออกมา ถ้าภายในตู้ปลามีทั้งพันธุ์ไม้น้ำ และสัตว์อยู่ด้วยกัน อัตราการคายออกซิเจนของพันธุ์ไม้น้ำ พอเหมาะกับอุตราการคายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของสัตว์ สภาพแวดล้อมภายในตู้ปลาก็จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่รวมกันได้อย่างสมดุล
4. ความหนาแน่น หลังจากการตกแต่งพันธุ์ไม้น้ำเรียบร้อยแล้วเมื่อปลาได้รับอาหาร และแสงสว่างที่พอเหมาะ ก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความหนาแน่น ซึ่งสภาพอย่างนี้ อาจก่อให้เกิดการเสียความสมดุลระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันจำเป็นที่จะต้องตัดแต่ง หรือเคลือบย้ายพันธุ์ไม้น้ำที่เสียรูปทรง หรือหนาแน่นเกินไปออกจากตู้ปลา นำไปเพาะเลี้ยงบำรุงดูแลในที่แห่งใหม่ต่อไป
การเปลี่ยนน้ำ
การเปลี่ยนน้ำมีความจำเป็น เพราะน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาและพันธุ์ไม้น้ำ แร่ธาตุบางชนิดจะถูกนำไปใช้ หรือแลกเปลี่ยนไปบ้าง โดยปลาหรือพันธุ์ไม้น้ำหรือของเสียที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงควรมีการตรวจเช็คเพื่อปรับสภาพน้ำตามสมควรโดยการเปลี่ยนน้ำทุก ๆ 1-2 เดือน หรืออาจเปลี่ยนน้ำเมื่อปรากฏว่า ในตู้ปลามีตะไคร่น้ำหรือน้ำขุ่น
ข้อควรระวัง
การเปลี่ยนน้ำจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เกี่ยวกับค่าความด่างของน้ำในตู้ปลากับน้ำใหม่ที่เติมลงไป ว่ามีความเป็นกรดเป็นด่าง อุณหภูมิ และปริมาณสารบางตัวแตกต่างกันมากเกินไปหรือไม่ ถ้าเป็นน้ำประปาควรปรับความแตกต่างของสารคลอรีนให้ใกล้เคียงกันก่อนที่จะเติมลงในตู้ปลา และอีกประการหนึ่ง ที่เก็บน้ำถ้าปิดด้วยภาชนะนาน ๆ ในกลางแจ้ง ออกซิเจนในน้ำอาจมีน้อยหรือไม่มีเลย เมื่อนำไปเลี้ยงปลาโดยไม่มีพันธุ์ไม้น้ำตกแต่งอยู่ด้วยปลาที่เลี้ยงไว้อาจตายได้
การตลาด
ปลาตู้ที่เลี้ยงส่วนมากมักจะเป็นปลาสวยงาม ในปัจจุบันมีปลาสวยงามจำนวนมากที่มีผู้ซื้อขายกันอยู่ในท้องตลาด ตลาดที่ขายปลาสวยงามจะแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ
ตลาดในประเทศ
1. ตลาดแหล่งผลิต ได้แก่ แหล่งที่ทำการเลี้ยงปลาขาย จะมีอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ทั่ว ๆ ไป ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดต่าง ๆ ปลาที่เลี้ยงอาจมีเพียงชนิดเดียวหรือหลาย ๆ ชนิดก็ได้ เช่น เลี้ยงปลาเงินปลาทอง ปลาสอด ปลาหางนกยูง ปลาปอมปาดัว ปลาออสการ์ ฯลฯ ปลาที่ขายตามแปล่งที่ผลิตนี้ จะขายเป็นแบบขายส่ง คือ มีผู้ขายปลีกมาขอซื้อทีละมาก ๆ เพื่อนำเอาไปขายปลีก เช่น ขายส่งตัวละ 10 บาท นำไปขายปลีกอาจจะอยู่ในระหว่าง 20-25 บาท ทั้งนี้เพราะพ่อค้าขายปลีกจะคิดค่าของความเสี่ยงมาก อาทิ ปลาตาย ตลาดขาย การขนส่ง ทุนจม ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ อีกมาก แต่ผู้ขายปลีกก็ได้ประโยชน์ คือ ไม่ต้องเสียเวลา สถานที่ และทุนจมอยู่กับการเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ การเพาะ การเลี้ยงดู ตั้งแต่ตัวเล็ก จนโตออกขายได้
2. ตลาดขายปลีก เป็นตลาดที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไปทั้งในตัวอำเภอ จังหวัด และส่วนกลาง ในกรุงเทพมหานคร
ตลาดตามอำเภอ หรือตำบล จะมีผู้นำเอาออกขายตามหน้าร้าน หรือตั้งเป็นร้านค้าปลาสวยงาม และอุปกรณ์การเลี้ยงโดยเฉพาะ หรือตามตลาดสดประจำอำเภอต่าง ๆ ก็มีขาย
ตลาดจังหวัดต่าง ๆ จะเป็นแหล่งที่มีความหนาแน่น และความเจริญของจังหวัดนั้น ๆ ตามแหล่งที่กล่าวมานี้จะมีร้านขายโดยเฉพาะบ้างตามตลาดสดและตลาดขายของอื่น ๆ ตลาดกลาง มักจะเป็นตลาดใหญ่ ๆ ที่รองรับผู้ค้าจากจังหวัดต่าง ๆ นำเอาปลาสวยงามไปส่งขาย หรือไปตั้งขาย จะมีปลาสวยงามมากมายหลายชนิด เช่น ตลาดสวนจตุจักร
3. ตลาดต่างประเทศ ปลาสวยงามที่ผลิตออกจำหน่ายของประเทศไทยจะมีจำหน่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ปลากัด ปลากัดจีน และปลาสวยงามอื่น ๆ ก็มีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย ประเทศที่ไทยส่งปลายสวยงามออกไปขาย ได้แก่ ญี่ปุ่น และประเทศทางยุโรป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น