วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

โรคของปลาสวยงามและยารักษาโรค

โรคของปลาสวยงามและยารักษาโรค

การเลี้ยงปลาเลี้ยงสวยงาม ปัญหาเรื่องโรคนับเป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ตามปกติในช่วงชีวิตหนึ่งๆ ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาบนโลกย่อมหลีกลี้หนีจากโรคภัยไข้เจ็บไม่พ้น การเจ็บป่วยของคนเราเมื่อรู้สึกเจ็บป่วย เราสามารถที่จะปรึกษาแพทย์ให้ช่วยเยียวยารักษาได้ แต่อาการเจ็บป่วยของปลาที่เลี้ยงไว้ในที่กักขังจะทราบได้อย่างไร นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากในการตัดสินใจว่าปลาเป็นโรคหรือยัง หรือถ้าเป็นปลาจะเป็นโรคอะไร แต่ถ้าหากปลาป่วยเป็นโรคที่เกิดขึ้นทางภายนอกแล้ว การสังเกตและเอาใจใส่ของผู้เลี้ยงก็พอที่จะเป็นหลักได้ว่าปลาเป็นโรคแล้วหรือยังไม่เป็น ลักษณะภายนอกและความผิดปกติของปลาที่ป่วยอยู่นั้น จะสังเกตได้ดังนี้

ตามบริเวณลำตัวและครีบอาจมีจุดขาว มีเมือกมาก มีอาการตกเลือดตามเกล็ดของลำตัว และเป็นแผล ครีบอาจขาด หรือแหว่ง มีปุยขาวๆ เกาะติดอยู่ ปลาชอบที่จะนำลำตัวถูกับภาชนะที่เลี้ยง กินอาหารได้ลดลง หรือไม่กินอาหารเหลือ ลอยหัวขึ้นมาฮุบเอาอากาศบนผิวน้ำบ่อยๆ หลังจากเปลี่ยนน้ำแล้ว การทรงตัวไม่ดีว่ายน้ำเอียงไปมา อาจมีอาการหงายท้องเซื่องซึม เหงาหงอย ผิดปกติ ชอบหลบอยู่บริเวณมุมตู้ ลักษณะดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นกับปลาสวยงามให้กังเกตุไว้ก่อนได้เลยว่า ปลาที่เลี้ยงไว้เป็นโรค โรคที่เกิดขึ้นกับปลาสวยงามแยกออกได้หลายประเภท ได้แก่ โรคที่เกิดจากปรสิต แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส

โรคที่เกิดจากปรสิต

โรคที่เกิดจากปรสิต ปรสิตทำอันตรายต่อปลาสวยงามที่เลี้ยงไว้อย่างยิ่ง ในบางครั้งอาจทำให้ปลาเสียรูปทรงเกิดเป็นจุดดำ ๆ ด่าง ๆ ไม่สวยเช่นเดิม ปรสิตมักจะเกาะปลาบริเวณที่เหงือก ลำตัวปลาที่พบอยู่เสมอๆ ในการเลี้ยงปลาสวยงาม ได้แก่

โรคอิ๊ค เชื้อโรคนี้เป็นโปรโตซัวที่มีรูปร่างกลม หรือรูปร่างไข่ มีขนสั้นๆ รอบตัว ลักษณะที่เด่นก็คือมีนิวเครียสเป็นรูปเกือกม้า เมื่ออิ๊คเข้าไปเกาะใต้ผิวหนังของปลา ปลาจะสร้างเซลล์หุ้มตัวดูเป็นสีขาวๆ ปลาที่เป็นโรคนี้จะสังเกตุได้โยปลาจะพยายามเอาตัวของมันถูตามข้างๆ ภาชนะหากปล่อยไว้ปลาก็จะมีจุดสีขาวๆ ทั่วทั้งตัว และจะตายในที่สุด

ในการป้องกันโรคอิ๊ค สามารถที่จะกระทำได้โดยไม่เลี้ยงปลาให้ปะปนกัน ไม่ใช้เครื่องมือต่างๆ ร่วมกัน เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ตักปลาเป็นโรค ควรทำความสะอาดด้วยคลอรีน หรือฟอร์มาลน ก่อนการใช้ในครั้งต่อไปเมื่อพบว่าปลาป่วยเป็นโรคนี้ จะใช้ฟอร์มาลิน 1.5-2.5 ซีซี ในน้ำ 1,000 ลิตร ผสมกับมาลาไคท์กรีน 0.1 ซีซี ทำการแช่ตลอดไป

ปลิงใส เป็นพยาธิตัวแบนชนิดหนึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า ปลิงใสจะเข้าเกาะบริเวณครีบและซี่เหงือกของปลาทำให้ปลาอ่อนแอ และระคายเคืองปลาจะสร้างเมือกออกมามากผิดปกติ ในปลาที่มีขนาดใหญ่ปลิงใสเพียงแต่ทำให้ให้มีแผลจากรายเกาะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่เป็นอันตรายมากเท่าใดนัก แต่ในปลาที่มีขนาดเล็กนั้นปลิงใสเป็นอันตรายต่อปลาถึงตายได้

เมื่อพบปลิงใสเกาะอยู่ตามบริเวณลำตัวของปลา ควรรีบกำจัดเสียแต่โดยเร็ว วิธีกำจัดที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้ดิวเทอเร็กซ์ 0.25 มิลลิกรัมต่ำน้ำ 1 ลิตร แช่ตลอดไป จะทำให้ปลิงใสตายหมดไป

เห็บปลา เห็บปลาเป็นปรสิตบนลำตัวของปลาที่มีขนาดใหญ่ มีสีเขียวสีน้ำตาล สังเกตลักษณะของเห็บได้ง่ายเห็บปลาจะลำตัวแบนกลมด้านหลังโค้งมน ปากมีอวัยวะสำหรับการเกาะดูด ปลาสวยงามที่ถูกเห็บเกาะจะเกิดอาการระคายเคืองจะว่ายน้ำเอาลำตัวถูกตามขอบตู้ปลาเช่นกัน ตัวที่มีอาการหนัก การทรงตัวจะสูญเสียไป

การกำจัดเห็บปลา จะใช้ดิฟเทอเร็กซ์ 0.25 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ทำการแช่ไปตลอด 1 สัปดาห์ ให้ถ้ายน้ำเปลี่ยนยาใหม่ประมาณ 5 ครั้ง เช่นเดียวกันกับการกำจัดหนอนสมอ

เห็บระฆัง มีรูปร่างคล้ายระฆังคว่ำ มีขนาดเล็ก มีขนสั้นรอบตัวเป็นวงสำหรับใช้ในการเคลื่อนที่จะพบเห็บชนิดนี้บนลำตัวปลา ครีบและบริเวณเหงือก ส่วนเหล่านี้จะมีสีขาวๆ และมีเมือกมาก ในที่สุดผิวหนังก็จะเป็นแผล เกิดเป็นดวงขาวๆ และในที่สุดปลาก็ตาย

ในการป้องกันโรคนี้ พยายามใช้นำที่แน่ใจว่าสะอาดจริงๆ และไม่เลี้ยงปลาให้ปะปนกัน เมื่อพบว่าปลาที่ป่วยเป็นโรคนี้จะกำจัดได้โดยใช้ฟอร์มาลิน 1.5-2.5 ซีซี ในน้ำ 1,000 ลิตร ผสมกับมาลาไคท์กรีน 0.1 ซีซี ทำการแช่ตลอดไป

หนอนสมอ ปลาสวยงามที่มีเกล็ดเกือบทุกชนิด หนอนสมอมักจะเข้าเกาะตามลำตัวของปลา ปลาจะเกิดอาการระคายเคืองเป็นอย่างมาก หากมีหนอนสมอเกาะอยู่แล้วปลามักจะชอบเอาลำตัวถูตามข้างภาชนะ ทำให้เกล็ดหลุดเป็นแผลได้อาการถูกตัวกับข้างภาชนะทำให้เกล็ดหลุดเป็นแผลได้ อาการถูกตัวกับข้างภาชนะนี้จะเหมือนกับโรคอิ๊ค ดังนั้นเมื่อพบอาการดังกล่าว ให้จับปลาขึ้นมาดูหากเป็นหนอนสมอ จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลำตัวยาวรูปทรงกระบอก ส่วนหัวมีลักษณะคล้ายตะขอ หากไม่พบก็แสดงว่าปลาเป็นโรคอิ๊คก็ได้

เมื่อพบว่าปลามีหนอนสมอเกาะอยู่การกำจัดที่ได้ผลดีที่สุด คือการใช้ ดิพเทอเร็กซ์ 0.25 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ตลอดไป ตลอด 1 สัปดาห์ ให้ถ่ายน้ำเปลี่ยนยาใหม่ประมาณ 5 ครั้ง หนอนสมอจะตายหมดไปจากตู้ปลา

โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย

ในสภาพปกติในน้ำที่เลี้ยงปลา จะมีแบคทีเรียที่สามารถทำให้ปลาป่วยเป็นโรคได้อยู่แล้ว แต่จำนวนของแบคทีเรียมีจำนวนที่ไม่มากพอและปลาก็มีภูมิคุ้มกันโรคอยู่แล้วในตัวของปลาเอง เมื่อใดที่สภาพของน้ำไม่เหมาะสมอาหารเหลืออยู่มาก เป็นสาเหตุให้น้ำเน่าเสีย ปลาอ่อนแอ เพราะถูกรบกวนจากปรสิตหรือคน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ปลาป่วยเป็นโรคได้เพราะภูมิคุ้มกันตัวเองจะลดลง ประกอบกับการเพิ่มจำนวนได้ของแบคทีเรีย แอโรโมนาส ไฮโดรพิลลา ปลาที่มีเชื้อโรคชนิดนี้จะว่ายน้ำเชื่องช้าลอยหัว ไม่กินอาหาร ส่วนใหญ่จะมีบาดแผลบนลำตัว ครีบท้องบวมน้ำ เกล็ดพอง ตาโปน

การป้องกันไม่ให้ปลาอ่อนแอ และการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยการไม่ให้อาหารปลาจนเหลือไม่เลี้ยงปลาหนาแน่น ถ่ายเทน้ำให้ใหม่อยู่เสมอเพื่อระดับของออกซิเจนจะได้คงเดิมเพียงเท่านี้ แบคทีเรียจะไม่สามารถทำอันตรายปลาที่เลี้ยงไว้ได้ หากปลาเริ่มแสดงอาการผิดปกติเนื่องจากแบคทีเรียจะใช้ยาคลอแรมฟินิโคล 50-80 มิลลิกรัมใส่ลงในน้ำ 1 ลิตร

โรคที่เกิดจากเชื้อรา

เชื้อราเกิดได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ปลาสวยงามที่เป็นเชื้อราจะเห็นปลามีลักษณะเหมือนปุยสำลี บริเวณบาดแผลหรือบริเวณส่วนต่างๆ ของปลาอยู่เสมอ การติดเชื้อราโดยส่วนมากแล้ว จะเกิดหลังจากปลาได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลเกิดขึ้นบนลำตัว ในระหว่างการขนส่ง ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า การติดเชื้อราจะเกิดขึ้นได้เมื่อปลาบอบช้ำแล้ว เชื้อราที่พบเสมอๆ ในปลาสวยงามคือ แซพโปรเล็กเนีย เชื้อชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นจะมีผลทำให้ปลาเสียสมดุลย์ในการทรงตัว

การป้องกันเชื้อราโดยหลักการแล้วความสะอาดนับเป็นเรื่องสำคัญ ระมัดระวังอย่าให้น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาสกปรกอย่าให้ปลาบอบช้ำและมีบาดแผลบนลำตัวเพราะจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เมื่อพบว่าปลาเกิดการติดเชื้อรา การกำจัดทำได้โดยการใช้ยา มาลาไคท์กรีน โดยความเข้มข้น 1 ต่อ 15,000 แช่เป็นเวลานาน 10-30 วินาที หรือจะใช้ในอัตรา 0.1 ซีซี ในน้ำ 1,000 ลิตร แช่นานตลอดไปจะช่วยกำจัดเชื้อราลงได้

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส

ไวรัสเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กมาก ที่พบว่าทำให้เกิดโรคในปลาสวยงามในไทยเสมอๆ มีเพียง 1 ชนิดคือลิมโฟซิสติส อาการของปลาที่ติดเชื้อนี้สังเกตได้ง่าย จะมีตุ่มนูนขึ้นมาจากผิวหนัง คล้ายเนื้องอกยื่นออกมา ปลาที่เป็นโรคชนิดนี้จะหมดความสวยงามลง โรคนี้ไม่ถึงกับทำให้ปลาตาย การรักษาไม่มีการใช้ยาและสารเคมี เนื่องจากเชื้อไวรัสจะเป็นเพียงระยะหนึ่งแล้วจะหายไปเอง

โรคที่พบในปลาหางนกยูงและวิธีรักษาโรค

โรคที่พบอาจะเกิดจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ปรสิต แบคทีเรีย สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่นออกซิเจนในน้ำน้อย อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุเหล่านี้ไม่รุนแรงพอที่จะทำให้ปลาตาย แต่ทำให้ปลาเกิดความเครียด มีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานลดลง โรคที่พบได้แก่

1.

โรคจุดขาว (white sp. Disease) เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวชื่อ lchthyophthirus multifilis หรือชื่อย่อ lch (อิ๊ค) อิ๊คเข้าเกาะตัวปลาและตัวที่ผนังชั้นนอกของปลาสร้างความระคายเคือง ปลาจะสร้างเซลล์ผิวหนังหุ้มอิ๊ค ทำให้เห็นเป็นจุดสีขาว ยังไม่มีวิธีการกำจัดอิ๊คที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง แต่วิธีการที่ได้ผลคือการทำลายตัวอ่อนในน้ำสารเคมีที่ใช้ได้ผลดี คือ ฟอร์มาลีน 30-40 ppm. ผสมกับมาลาไค้ทกรีน 0.1 ppm. แช่ติดต่อกัน 3-4 วัน จะให้ผลดีมาก โดยเฉพาะเมื่อน้ำมีอุณหภูมิประมาณ 25-30 C

2.

โรคสนิม เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว (Oodinium sp.) เกาะตามเหงือกและผิวหนัง ถ้าเกาะจำนวนมากจะเห็นเป็นลักษณะคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองปนน้ำตาลกระจายเป็นหย่อมๆ การป้องกันและกำจัดควรใช้เกลือแกงเข้มข้น 1% แช่ปลานาน 24 ชั่วโมง ควรทำซ้ำทุก 2 วัน จนกว่าจะหาย

3.

โรคที่เกิดจากปลิงใส เกิดจากปรสิตตัวแบน 2 ชนิดคือ Gyrodzdtylus และ Dactylgyrus มักพบตามบริเวณเหงือกและผิวหนัง การรักษาใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 30-40 ppm. หรือ ดิพเทอร์เร็กเข้มข้น 0.25 - 0.5 ppm. แช่ทิ้งไว้ตลอดไป

4.

โรคที่เกิดจากหนอนสมอ (Lerneae sp.) หนอนสมอมีลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนหัวคล้ายสมอซึ่งทำหน้าที่ยึดเกาะกับตัวปลา การรักษาใช้ดิพเทอร์เร็กซ์เข้มข้น 0.25-075 ppm. แช่นาน 24 ชั่วโมง แช่น้ำ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 5-6 วัน

5.

โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เกิดจากแบคทีเรียสกุล Aeromonas และ Pseudomonas อาการที่พบก็คือ ท้องบวมน้ำ เกล็ดพอง รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซิเตตราไซคลิน ผสมลงในน้ำในภาชนะที่เลี้ยงในอัตรา 10-20 ppm. หรือจะใช้

โปรโตซัวในปลาหางนกยูง

โปรโตซัว เป็นสัตว์เซลล์เดียวมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า การดำรงชีวิตมีทั้งเป็นอิสระอยู่และดำรงชีวิตแบบเป็นปรสิต โปรโตซัวจำนวนมากในระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำ ที่ดำรงชีวิตเป็นปรสิตในสัตว์น้ำทั้งภายนอกและภายใน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่เสมอ

Tetrahymena ssp. เป็นโปรโตซัวชนิดหนึ่ง จัดจำแนกอยู่ใน Subphylum Ciliophora Class Ciliata Order Hymenos tomatida Suborder Tetrahyminena Genus Tetrayhmena เป็นสัตว์เซลล์เดียว รูปไข (oval shape) มีขนาดเล็กมากประมาณ 30-50 ไมครอน มีขนเล็กๆ (Cilia) เรียงเป็นแนวยาวจากด้านหน้าไปด้านท้ายเซลล์ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยในการเคลื่อนที่จำนวนแถวของ Cilia มีจำนวนแตกต่างกันตั้งแต่ 30-40 แถว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด (species) เช่น T. pyriformis มีจำนวนแถวของ Cilia 17-21 แถว T. corlissi มีจำนวนแถวของ cilia 25-31 แถว และมี cilia ที่ยาวและแข็งแรงกว่า cilia อื่นๆ อยู่ 1 เส้น อยู่ด้านท้ายของเซลล์ เรียกว่า "caudal cilium" T.rostrata มีจำนวนแถวของ cilia 32-35 แถว เป็นต้น ลักษณะเด่นของโปรโตซัวในกลุ่มนี้มีร่องปาก (cytostome) อยู่ค่อนมาทางหน้าของเซลล์ และมีขนอยู่โดยรอบ คอยพัดโบกสารอาหารเข้าร่องปากลักษณะร่องปาก มีโครงสร้างเป็นเยื่อบางๆ 4 ชั้น จึงได้ชื่อว่า Tetrahymena (Tetra เป็นภาษาละติน หมายถึงจำนวน 4, hymen เป็นภาษากรีก หมายถึงเนื้อเยื่อ (membrane) การสืบพันธุ์โดยการแบ่งเซลล์ (binary fission) ซึ่งมีทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ มีนิวเครียส 2 ชนิด มีขนาดและหน้าที่ต่างกันคือนิวเครียสขนาดใหญ่ 1 อัน รั้งอยู่ตรงกลาง เซลล์รูปร่างเรียวแต่ไม่คงรูปเรียกว่า macronucleus มีขนาดประมาณ 10 ไมคครอน เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของเซลล์ ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเผาผลาญอาหารและนิวเครียสขนาดเล็ก รูปร่างค่อนข้างกลมมีจำนวนมาก เรียกว่า micronucleus ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์โดยแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม (genetic material) ระหว่างเซลล์

การดำรงชีวิตของ tetrahymena ในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีทั้งแบบมีชีวิตอิสระ (free-living) โดยกินแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำเป็นอาหาร และเป็นปรสิตโดยกัดกินเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหาร ปัจจุบันได้พบว่า Tetrahymena เป็นปรสิตที่ทำให้ความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาหางนกยูงเป็นอย่างมาก ดังนั้นเกษตรกรจึงควรสนใจศึกษาถึงลักษณะของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวชนิดนี้จะได้ป้องกันและรักษาโรคนี้ได้ทันท่วงที

การก่อให้เกิดโรคและการแพร่ระบาดของโรคสัตว์น้ำจากโปรโตซัวชนิดนี้ ยังไม่มีรายงานแน่ชัด เนื่องจากยังไม่เคยมีรายงานการศึกษาถึงการเกิดโรคนี้ในประเทศไทยมาก่อน แต่อาจสันนิษฐานได้ว่าอาจปนเปื้อนมากับปลาหางนกยูง หรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีรายงานการตรวจพบการติดเชื้อโปรโตซัว Tetrahymena sp. ในปลาหางนกยูงจำนวนหนึ่งที่นำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้นำสัตว์น้ำเข้ามาในประเทศไทยควรตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะเมื่อโรคสัตว์น้ำชนิดใหม่ที่มีความรุนแรงของโรคสูงเข้ามาในประเทศ แล้วเกิดการแพร่ระบาดการควบคุมและรักษาโรคเป็นเรื่องยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก

การตรวจวินิจฉัยโรค

ลักษณะอาการภายนอกที่เห็นได้ชัดเจนคือ คือ มีผิวลำตัวซีดหรือมีสีเทาสลับกับสีของผิวปลาปกติ ทำให้ดูเหมือนมีสีผิวด่าง กระจายเป็นแถบๆ ทั่วลำตัว มีแผลเลือดออก (haemorrhage) เกล็ดตั้งพองขึ้น เมื่อปลาป่วยนานขึ้นเกล็ดจะหลุด เกิดแผลในปลาที่มีการติดเชื้อค่อนข้างรุนแรงแล้ว ทำให้ผิวหนังถูกทำลายจนเป็นแผลหลุมลึกเข้าในในกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ปลาว่ายน้ำช้าลง ซูบผอม บางตัวมีครีบก่อน เงือกบวม ซีดและทยอยตายในเวลาต่อมา การตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดต้องทำภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยใช่แผ่นแก้วบางๆ ขูดบริเวณผิวหนังและแผล ครีบต่างๆ หรือตัดซี่เหงือกวางบนแผ่นสไลด์แล้วตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายอย่างน้อย 10 เท่า เมื่อดึงเกล็ดออกและตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบว่ามีโปรโตซัวชนิดนี้ซ่อนตัวอยู่ในเนื้อเยื่อใต้เกล็ดเป็นจำนวนมาก

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพ

ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของปลาที่ได้รับเชื้อ Tetrahymena เปรียบเทียบกับพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อปลาปกตินั้น พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ ดังนี้

ผิวหนังและกล้ามเนื้อ

การเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะที่สีผิวของปลาเป็นสีเทาขาวมีการเปลี่ยนแปลงคือ เซลล์ผิวหนังชั้นนอก, ชั้นกลาง, ชั้นใน ถูกทำลายหมดเนื่องจาก Tetrahymena ใช้ขนเล็กๆ ที่มีอยู่จำนวนมากรอบๆ ลำตัว เจาะไชผ่านผิวหนังชั้นนอก โดยที่เซลล์ผิวหนังค่อยถูกทำลายจนทำให้เซลล์ตาย มีการอักเสบเพียงเล็กน้อยพบเซลล์ Tetrahymena คืบคลานเข้าไปจนถึงผิวหนังชั้นใน เซลล์ผิวหนังถูกทำลายมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของโปรโตซัว ถ้ามีจำนวนมากจะทำให้มีการทำลายเซลล์เนื้อเยื่อเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามยังไม่ปรากฎว่าเป็นเหตุให้แลาตายอย่างเฉียบพลัน จึงเรียกการติดเชื้อแบบนี้ว่าการติดเชื้อแบบเรื้อรัง อัตราการตายของปลาจึงค่อยๆ ทยอยตาย ส่วนปลาที่มีแผลหลุมลึก พบว่ามีการตายของเซลล์กล้ามเนื้อจำนวนมากพบการอักเสบบ้างเล็กน้อย

เหงือก

การเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของเซลล์เหงือกพบว่า มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์เยื่อบุผิว ซี่เหงือกมากขึ้นและอาการบวมน้ำ ในกรณีที่เหงือกถูกทำลายถึงขั้นรุนแรง ประกอบกับคุณสมบัติของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่เหมาะสมจะเป็นสาเหตุให้ปลาตายอย่างเฉียบพลันได้เช่นกัน

ช่องท้องและอวัยวะภายในต่าง ๆ

พบเซลล์ของ Tetrahymena เข้าไปอยู่ในบริเวณเยื่อบุช่องท้อง ตับ และไตบ้างจำนวนไม่มาก โดยพบในปลาที่มีแผลเป็นหลุมลึกเข้าไปถึงกระดูกสันหลังเท่านั้น ทั้งนี้อาจสันนิษฐานได้ว่า เมื่อปลาเริ่มมีการติดเชื้อโปรโตซัวชนิดนี้ในขั้นรุนแรง เมื่อ Tetrahymena สามารถทำลายเซลล์ผิวหนังและกล้ามเนื้อได้แล้ว จะเคลื่อนตัวเข้าไปสู่ช่องท้องผ่านทางกล้ามเนื้อที่ถูกทำลายจนเป็นช่อง ที่มีขนาดพอที่เซลล์ Tetrayhmena สามารถเคลื่อนที่เข้าไปในช่องท้องและอวัยวะภายในที่สำคัญได้

การแยกเชื้อ Tetrahymena เพื่อเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ

ปัจจุบัน สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำสามารถแยกเชื้อ Tetrahymena เพื่อเลี้ยงให้เป็นเชื้อบริสุทธิ์ในห้องปฏิบัติการได้สำเร็จ โดยทดลองเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดต่างๆ กันซึ่งจะทำให้การศึกษาและทดลองเกี่ยวกับการพัฒนาการป้องกันโรคสัตว์น้ำที่เกิดจากปรสิต โดยการผลิตวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์น้ำให้เกิดความต้านทานมีความเป้นไปได้มากขึ้น


การป้องกันและรักษา

ถ้าผู้อ่านได้ติดต่อข่าวโรคสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง คงได้ทราบวิธีการป้องกันและรักษาไปบ้างแล้ว แต่ขอสรุปให้ทราบอีกครั้งดังนี้

1.

น้ำใช้ในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จะต้องปลอดจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค

2.

ควรทำการกักกันโรคสัตว์น้ำ โยการฆ่าเชื้อก่อนนำสัตว์น้ำรุ่นใหม่เข้าฟาร์ม

3.

ควรคัดเลือกลูกพันธุ์ปลาที่ได้จากพ่อแม่พันธุ์ดีปลอดเชื้อรวมถึงการเป็นพาหะของโรค

4.

ควรปล่อยสัตว์น้ำเลี้ยงในอัตราการแน่นที่เหมาะสม

5.

ควรใช้อาหารเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีคุณภาพและปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค ให้อาหารในระดับที่เหมาะสมเพียงพอกับความต้องการของสัตว์น้ำ

6.

ควรควบคุมคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสมตลอดการเลี้ยง เช่น มีปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสม อุณหภูมิในแต่ละช่วงวันไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นต้น

7.

ควรทำลายสัตว์น้ำที่เป็นโรค โดยการฝังหรือฆ่าเชื้อและเว้นระยะการใช้บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก่อนนำสัตว์น้ำรุ่นใหม่มาเลี้ยง

8.

หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำสม่ำเสมอและเมื่อพบว่าสัตว์น้ำมีอาการผิดปกติ ควรรีบหาสาเหตุเพื่อการรักษาที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพสัตว์น้ำที่เริ่มติดเชื้อ Tetrahymena ในระยะแรกๆ ให้รีบใช้ฟอร์มาลีนเข้มข้น 25-30 ส่วนในล้านสาดลงในบ่อพร้อมทั้งให้ออกซิเจนกับน้ำในบ่อนาน 24 ชั่วโมง แล้วเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำซ้ำ 2 ครั้ง ส่วนสัตว์น้ำที่ติดเชื้อค่อนข้างรุนแรงแล้วการรักษาค่อนข้างยาก น่าจะทำลายให้หมดเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย

ยารักษาโรคปลา

ยาที่ใช้รักษาโรคปลาส่วนใหญ่แล้ว เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดีอาจจะอยู่ในรูปของสารแขวนลอยในน้ำ ที่ให้ระดับความเข้มข้นพอที่จะรักษาเยียวยาให้เกิดผลดี นอกจากนี้ยังต้องมีราคาถูก มีอยู่มากมายหลายชนิดเท่าที่นิยมใช้ในบ้านเรา และเป็นที่ยอมรับกันว่าใช้แล้วได้ผลดีคือ ยาเหลือง จุนสี ดิพเทอเร็กซ์ ฟอร์มาลิน มาลาไลท์กรีน ด่างทับทิม และเกลือแกง

ยาเหลือง มีลักษณะเป็นผงสีเหลืองส้ม มีผลในการยับยั้งแบคทีเรีย นิยมจะใช้ในขณะที่ทำการขนส่งปลา หรือเริ่มปล่อยปลาความเข้มข้นที่ใช้ 1-3 มิลลิกรัมในน้ำ 1 ลิตร ใช้ในปลาที่มีขนาดเล็กส่วนปลาที่มีขนาดใหญ่ อาจจะใช้ถึง 10 มิลลิกรัมในน้ำ 1 ลิตร ยาเหลืองมีราคาค่อนข้างแพง ไม่นิยมใช้ในบ่อเลี้ยงปลาสวยงามที่มีขนาดใหญ่มักจะใช้กันอยู่ในตู้ปลาเท่านั้น

จุนสี เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ สีฟ้ามักจะใช้เพื่อฆ่าสาหร่าย ในการใช้จุนสีควรคำนึงถึงความกระด้างของน้ำ น้ำที่มีความกระด้างน้อย ความเป็นพิษของจุนสีจะเพิ่มสูงขึ้น มีผลทำให้ปลาตายได้

ดิพเทอเร็กซ์ มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว หรือเหลืองอ่อนนำมาใช้กำจัดปรสิตภายในในปลาสวยงาม ดิพเทอเร็กซ์ จัดไว้อยู่ในกลุ่มของยาฆ่าแมลงของสารประเภทออร์แกโนฟอสเฟต มีหลายชื่อที่เรียกกันไดลอกซ์เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดี

ฟอร์มาลิน เป็นของเหลวสีขาว มีกลิ่นเป็นสารที่ประกอบด้วยฟอร์มาดีฮาย 37-40 เปอร์เซ็นต์ ในการใช้ฟอร์มาลินจะต้องจะต้องเลือกใช้ที่เป็นของเหลวใส ไม่มีตะกอนขุ่นขาว ปนอยู่ในระหว่างการใช้ยาควรให้อาการตลอดเวลา เพราะฟอร์มาลินจะทำให้ปริมาณของออกซิเจนในน้ำลดลง ฟอร์มาลินนับเป็นสารที่มีความสำคัญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นิยมที่จะใช้กำจัดปริสิตภายนอก และมีผลต่อโปรโตซัว

มาลาไคท์กรีน มีลักษณะเป็นผงสีขาว เมื่อละลายน้ำจะให้สีฟ้าอ่อนๆ จนถึงสีเขียวตามระดับของความเข้มข้น นิยมที่จะใช้มาลาไคท์กรีน ในการกำจัดและป้องกันเชื้อรา การใช้มาลาไคท์กรีนต้องระมัดระวัง เพราะเป็นสารที่มีอันตรายต่อมนุษย์

ด่างทับทิม มีลักษณะเป็นผลึกสีม่วงแดง ละลายน้ำได้ดีเป็นชนิดเดียวกันกับที่แม่บ้านใช้ล้างผัก ด่างทับทิมมีผลในการป้องกันและกำจัดโรคได้อย่างกว้างขวาง ทั้งโปรโตซัว เชื้อรา และแบคทีเรีย ในการเลี้ยงปลาสวยงามนิยมที่จะใช้ไรแดงก่อนให้ปลากินเป็นอาหาร นอกจากนี้ด่างทับทิมเป็นตัวที่จะช่วยเพิ่มปริมาณของออกซิเจนในน้ำ

เกลือแกง มีลักษณะเป็นเม็ดและผงสีขาวๆ ละลายน้ำได้ดีมีราคาถูกหาซื้อได้ง่าย เป็นชนิดเดียวกันกับที่แม่บ้านใช้ปรุงอาหารในครัวเรือน นิยมใช้เกลือแกง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและช่วยลดอัตราการบอบช้ำในขณะที่ลำเลียง มักจะใส่เกลือแกง 1-2 กรัมในน้ำ 1 ตัน นอกจากนี้เกลือยังช่วยลดความเป็นพิษของแอมโมเนียในน้ำได้ดีอีกด้วย

คลอแรมเฟนิคอล เป็นตัวยาที่รักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย มีลักษณะเป็นแผงเป็นยาที่นิยมใช้กันมาก ราคาไม่แพงนัก อาจใช้ฉีดปลาหรือผสมลงในอาหารปลาเพื่อรักษาโรค อัตราที่นิยมใช้ หากฉีดจะใช้ยา 3 มิลลิกรัม ฉีดปลาที่มีน้ำหนัก 150-400 กรัม หากผสมอาหารจะใช้ยานี้ 55 มิลลิกรัมผสมอาหาร 1 กิโลกรัม กินติดต่อกัน 5 วัน

ครอโรเตตราซัยคลิน เป็นตัวยาที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เชื้อรา และหนอนพยาธิ มีลักษณะเป็นผงสีเหลือง มีขายโดยทั่วๆ ไปส่วนใหญ่จะใช้ยาชนิดนี้ละลายน้ำในอัตรา 10-20 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร

ออกซีเตตราซัยคลิน เป็นตัวยาใช้กำจัดแบคทีเรีย เชื้อรา และหนอนพยาธิ มีลักษณะเป็นผง ผสมอาหารให้ปลากิน ในอัตรา 5-10 กรัมต่ออาหาร 100 กรัม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น