วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

การเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำ

พรรณไม้น้ำหรือพืชน้ำ(Aquatic Plants) หมายถึงพืชที่ขึ้นอยู่ในน้ำโดยอาจจะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด หรือ โผล่บางส่วนขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ หรือเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามริมน้ำ ชายตลิ่ง นอกจากนี้ก็ยังรวมถึงพืชที่เจริญเติบโตอยู่ในบริเวณที่ลุ่มน้ำขังหรือที่ขึ้นแฉะอีกด้วย


การจัดตู้ปลาปัจจุบันมักจะมีการตกแต่งด้วยพรรณไม้น้ำควบคู่กันไปกับการเลี้ยงปลา จึงจะจัดว่าเป็นตู้ที่ทันสมัยและมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เนื่องจากในสภาพแวดล้อมธรรมชาตินั้น พรรณไม้น้ำและปลาจะอาศัยอยู่ร่วมกัน การปลูกประดับพรรณไม้น้ำในตู้ปลานอกจากจะเพิ่มมีความสวยงาม ความมีชีวิตชีวาให้กับตู้ปลาแล้ว พรรณไม้น้ำและปลายังเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน โดยพรรณไม้น้ำจะช่วยกำจัดของเสียที่ขับถ่ายออกจากตัวปลา ใช้เป็นปุ๋ยสำหรับการเจริญเติบโต และนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งปลาไม่ต้องการ ผลจากการสังเคราะห์แสงของพรรณไม้น้ำในตู้ปลาจะได้ก๊าซอ๊อกซิเจนซึ่งปลานำไปใช้ในการหายใจได้ต่อไป จากจุดเริ่มต้นที่ใช้พรรณไม้น้ำประดับตู้ปลาให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น พัฒนาไปจนกระทั่งเป็นงานศิลปะการจัดสวนใต้น้ำ ซึ่งจัดเป็นงานอดิเรกชนิดใหม่เกิดขึ้น และได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก

พรรณไม้น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ประดับตู้ปลา และจัดสวนพรรณไม้น้ำมีมากกว่า 250 ชนิด พรรณไม้น้ำสวยงามที่นิยมส่วนใหญ่มักมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศในเขตร้อน เช่นประเทศในทวีปอัฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย เป็นประเทศในเขตร้อนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพรรณไม้น้ำสวยงามที่นิยมกันหลายชนิด อีกทั้งภูมิประเทศของประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการแพร่ขยายพรรณไม้น้ำหลายชนิด เพราะไม่เพียงแต่เฉพาะพรรณไม้น้ำของไทยเท่านั้นที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ พรรณไม้น้ำต่างประเทศอีกหลายชนิดที่นำเข้ามาก็สามารถเจริญเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีในประเทศไทย ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มของพรรณไม้น้ำตามลักษณะการเกิดของใบดังนี้

พรรณไม้น้ำ

  1. พรรณไม้กลุ่มที่มีใบแตกออกจากรอบ ๆ โคนต้น ได้แก่สกุล Aponogeton, nubias, Crytocoryne, Crinum, Nymphea, Echinodorus และ Vallisneria เป็นต้น
  2. พรรณไม้กลุ่มที่มีใบเกิดตามข้อ ชนิดที่นิยมและปลูกได้ดีในตู้ ได้แก่ สกุล Cabomba, Hygrophila, Alternanthera, Nomaphila, Egeria, Ludwigia, Bacopa, Myriophyllum, Rotala และ Ammannia เป็นต้น
  3. กลุ่มอื่น ๆ เช่น พวกลอยน้ำ ได้แก่ กระจับ จอก แหน กลุ่มของเฟิร์นที่นิยมมากคือ รากดำใบยาว และกลุ่มของมอส ที่นิยมมากคือ ชวามอส

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงพรรณไม้น้ำ และการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้เกิดพรรณไม้น้ำที่มีลักษณะรูปร่าง และมีสีสันแตกต่างกันมากมาย การผลิตพรรณไม้น้ำนั้นมีทั้งแบบดั่งเดิม คือ ปลูกบนดินในที่โล่ง และแบบพัฒนาในโรงเรือนปิด มีการนำเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ของพืชบกมาใช้เช่นวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และได้ปริมาณมาก ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ปัจจุบันสถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้นำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาใช้ในการเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำสกุล Cryptocoryne บางชนิด ซึ่งมีการเก็บรวบรวมจากธรรมชาติ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

การเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำ

พรรณไม้น้ำสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี คล้ายพืชบกดังนี้

  1. การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการใช้เมล็ด เช่น สันตะวา, ชบา, แอมมาเนีย, อเมซอน และทับทิม
  2. การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
    1. ขยายพันธุ์โดยการเกิดสปอร์ เช่นรากดำใบยาว และเฟิร์นน้ำ
    2. ขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช ได้แก่

ลำต้น โดยการตัดลำต้นระหว่างข้อปักลงดิน หรือ พื้นกรวดขนาดเล็ก เช่น แอมมาเนีย, โรทาล่า หรือทับทิม, ขาไก่, สาหร่ายฉัตร, สาหร่ายเดนซ่า, สาหร่ายหางกระรอก, หลิวน้ำ, น้ำตาเทียน และลานไพลิน เป็นต้น
หน่อ ไหล่ เหง้า โดยการแยกต้นอ่อนที่เกิดขึ้นจากหน่อ ไหล่ เหง้า ไปปลูกบนพื้นดิน หรือ พื้นกรวด เช่น อะนูเบียส, แซกจิทาเรีย, เทป, โลบิเลีย และบัวชนิดต่าง ๆ

การปลูกพรรณไม้น้ำในแปลงเพาะขยายพันธุ์

  1. การปลูกแบบครึ่งบกครึ่งน้ำ โดยทั่วไปพรรณไม้น้ำส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในที่ชื้นแฉะ พรรณไม้น้ำสวยงามส่วนมากเป็นพืชชายน้ำ การเพาะขยายพันธุ์จะปลูกในแปลงที่มีวัสดุปลูกเป็นดินหรือกรวดขนาดเล็ก มีน้ำท่วมโคนต้น บ่อปลูกอาจเป็นบ่อซีเมนต์เตี้ย หรือ กระบะ มีตาข่ายพรางแสงประมาณ 40 – 60% ขึ้นกับชนิดของพรรณไม้น้ำ มีระบบน้ำหยดสปริงเกอร์ หรือใช้ฝักบัวรดน้ำเป็นระยะ ช่วยให้ความชุ่มชื้น ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์
  2. การปลูกพรรณไม้น้ำแบบไร้ดิน ได้แก่การปลูกในกระถางคล้ายตะกร้าพลาสติกขนาดเล็ก โดยใช้วัสดุปลูกเป็นแร่ใยหิน (Rock wool) ซึ่งมีคุณสมบัติอมน้ำ นุ่มไม่เปื่อยง่าย ไม่เกาะกันเป็นก้อน พรรณไม้น้ำที่ปลูกในกระถางจะแช่ไว้ในบ่อหรือกระบะที่มีน้ำ มีการให้ปุ๋ยโดยเติมลงไปกับน้ำ
  3. การปลูกพรรณไม้น้ำแบบใต้น้ำในบ่อดิน วิธีนี้จะใช้ในการเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำจำพวกสาหร่าย เช่น การปลูกสาหร่ายฉัตร สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายเดนซ่า โดยการตัดลำต้นมาปักชำในวัสดุปลูกที่เป็นดิน แล้วจึงเด็ดยอดไปจำหน่าย หรือการปลูกต้นเทป ในบ่อน้ำที่มีกรวดเป็นวัสดุปลูก เทปจะยายออกทางด้านข้างแตกออกเป็นใบเกิดต้นใหม่

การปลูกพรรณไม้น้ำแบบพัฒนา ส่วนใหญ่เพาะเลี้ยงกันในโรงเรือน (Green house) ซึ่งจะควบคุมความชื้น แสงสว่าง และปุ๋ยได้โดยอัตโนมัติ สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ ระบบการปลูกมักจะใช้วิธีการปลูกแบบไร้ดินในกระถางขนาดเล็กคล้ายตะกร้า ใช้ Rock wool เป็นวัสดุปลูก พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากสะดวกต่อการทำงาน สามารถกำหนดปริมาณได้แน่นอน และมีความสะอาด

การปลูกพรรณไม้น้ำในบ่อ หรือการชำน้ำ

พรรณไม้น้ำที่ได้จากแปลงเพาะปลูกแบบครึ่งบกครึ่งน้ำ ส่วนใหญ่จะต้องนำมาปักชำในน้ำเพื่อให้ลำต้นและใบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและสีสันให้มีความอ่อนช้อยสวยงามยิ่งขึ้น ในการปลูกพรรณไม้น้ำในบ่อน้ำ หรือที่เรียกว่าการชำน้ำมีขั้นตอนดังนี้

  1. การเตรียมบ่อ
    1. ใสกรวดขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตรที่ล้างสะอาดลงในบ่อที่เก็บกักน้ำได้ ถ้ากรวดไม่สะอาดจะทำให้น้ำขุ่น ตะกอนดินจะจับที่ใบทำให้ไม่สวย และไม่สามารถนำไปจัดในตู้ปลาได้ ใส่กรวดหนาประมาณ 3 – 4 นิ้ว
    2. เติมน้ำระดับสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่สูงจากกรวด และน้ำต้องใสสะอาด
  2. การปลูก
    1. นำพรรณไม้น้ำที่เด็ดยอดออกมาจากต้นแม่ ขนาดความยาวตามต้องการแต่ต้องมีข้ออย่างน้ำ 2 – 3 ข้อ เช่นตัดมาประมาณ 5 – 6 ข้อ
    2. เด็ดใบที่ข้อด้านล่างสุดออกเพื่อให้เกิดรากที่ข้อ ถ้าหากไม่ได้เด็ดใบออก ใบที่ข้ออยู่ใต้กรวดจะเน่าทำให้น้ำเสียหรือเกิดความสกปรก
    3. ปลูกพรรณไม้น้ำลงในกรวดให้ห่างกันพอประมาณ เพื่อให้มีเนื้อที่ในการเจริญเติบโตของใบจากนั้นเติมน้ำที่ใสสะอาดลงไปอีกจนกระทั่งระดับน้ำสูงจากกรวด 50 – 60 เซนติเมตร
    4. ทิ้งไว้ประมาณ 7 – 15 วัน เมื่อใบมีการเจริญเติบโต เปลี่ยนแปลงรูปร่างและมีสีสันสวยงาม ตลอดจนมีรากงอกดีแล้วจึงนำไปจำหน่ายหรือปลูกประดับในตู้ปลา
  3. การถ่ายเทน้ำและการใส่ปุ๋ยในบ่อพรรณไม้น้ำ
    1. ถ่ายน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่างน้อยในประมาณ 30% เพื่อให้น้ำใสสะอาดและพรรณไม้น้ำได้รับแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ไม่มีในปุ๋ยแต่มีในน้ำ นอกจากนี้การปลูกพรรณไม้น้ำใหม่ทุกครั้งควรล้างกรวดให้สะอาดก่อนใส่น้ำใหม่ลงไป
    2. ใส่ปุ๋ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ได้แก่ ปุ๋ย NPK ชนิดละลายน้ำสูตร 25-5-5 หรือ 30-20-10 ในปริมาณ 5 – 15 PPM. (5 – 15 กรัม/น้ำ 1,000 ลิตร) การใส่ปุ๋ยจะใส่หลังจากเติมน้ำใหม่แล้ว 2 – 3 วัน เช่นถ่ายน้ำทุก ๆ วันจันทร์ และใส่ปุ๋ยทุก ๆ วันพุธ
    3. เติมแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้พืชได้นำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยการเติมลงไปในกล่องกักคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใส่ไว้ในบ่อ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของพรรณไม้น้ำ

  1. วัสดุปลูก (ดินหรือกรวดขนาด 2 – 3 มิลลิกรัม/ลิตร)
  2. แสงสว่าง (40 – 60%)
  3. แก็สคาร์บอนไดออกไซด์ ในน้ำ ( 5 – 15 มิลลิกรัม/ลิตร)
  4. ธาตุอาหารหรือปุ๋ย (ได้แก่ปุ๋ย NPK สูตร 25-5-5,30-20-10 หรือ 27-17-10 อัตราความเข้มข้น 5 – 15 PPM. ขึ้นกับชนิดของพรรณไม้น้ำความถี่ของการใส่ปุ๋ย 1 – 2 สัปดาห์ต่อครั้ง)
  5. ความขุ่นใสของน้ำ (น้ำต้องใสสะอาด)
  6. อุณหภูมิของน้ำ (25 – 29 องศาเซลเซียส)
  7. ความกระด้างของน้ำ (75 – 150 มิลลิกรัม/ลิตร)
  8. ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (pH 6.5 – 7.4)
  9. ความชื้น (เจริญดีในความชื่นสูง)

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพรรณไม้น้ำ

ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพรรณไม้น้ำมีบทบาทเป็นอันมาก ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายพรรณไม้น้ำระหว่างประเทศ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกพรรณไม้น้ำในระดับโลก เช่นประเทศเดนมาร์ก ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในการผลิตพรรณไม้น้ำมากถึงร้อยละ 90 โดยประโยชน์ของเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงพรรณไม้น้ำมีดังนี้

  1. เพื่อการผลิตพรรณไม้น้ำให้ได้ปริมาณมาก ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยอาศัยอาหารสูตรที่สามารถเพิ่มจำนวนต้นเป็นทวีคูณ ตัวอย่างเช่น เริ่มต้นจากต้นพันธุ์ 1 ต้น และทำการย้ายเนื้อเยื่อเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน จะสามารถผลิตพรรณไม้น้ำในขวดได้ถึง 1 ล้านต้น ซึ่งไม่มีวิธีอื่นใดที่จะผลิตให้ได้ปริมาณมากและรวดเร็วเช่นนี้
  2. เพื่อการผลิตต้นพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อโรค โดยการผลิตซึ่งใช้เทคนิคการปลอดเชื้อ ตลอดจนการคัดชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคน้อยที่สุด ผลผลิตพรรณไม้น้ำที่ได้จะสะอาดปราศจากโรคตรงตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ
  3. เพื่อการปรับปรุงพันธุ์โดยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ แล้วคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีไว้ ซึ่งอาจทำได้โดยการใช้สารเคมีการฉายรังสี การตัดต่อพันธุ์ และการย้ายยีนส์
  4. เพื่อการเก็บรักษาพันธุ์ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารที่มีส่วนผลมของสารชะลอการเจริญเติบโต เพื่อเป็นการประหยัด แรงงาน เวลาและอาหาร จนกระทั้งเมื่อต้องการที่จะขยายพันธุ์จึงทำการย้ายลงไปเลี้ยงในอาหารสูตรปกติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น