วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

เลี้ยงปลาสวยงามอย่างไรให้มีคุณภาพ

เลี้ยงปลาสวยงามอย่างไรให้มีคุณภาพ


ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ส่งผลให้หลาย ๆ ท่านหันมาให้ความสนใจประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เริ่มดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงปลาสวยงาม จะมีแนวทางเลี้ยงปลาสวยงามอย่างไรให้มีคุณภาพ ดร.อมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล หัวหน้างานวิจัยสัตว์น้ำสวยงามสถาบันสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจะได้มาร่วมวงสนทนากับผู้อ่านหนังสือพิมพ์วารสารการประมงฉบับนี้ โดยมี ยุพินท์ วิวัฒนชัยเศรษฐ์ เป็นตัวแทนของท่าน ก็ขอเชิญติดตามไปพร้อม ๆ กันนะคะ
ยุพินท์ : ความสวยงามย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากมองอย่างจดจ่อ สำหรับปลาสวยงามซึ่งผู้ขายปลาสวยงามบางรายได้กล่าวเปรียบเทียบว่าเป็นสาวสวย หนุ่มหล่อนั่นก็คือคุณภาพปลาสวยงาม เพื่อให้ปลาสวยงามที่เลี้ยงมีคุณภาพที่ดีนั้นจะทำได้อย่างไร
ดร. อมรรัตน์ : ทุกคนอยากเลี้ยงปลาสวยงามให้มีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาดและมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นปัจจัยสำคัญ
วิธีการเลี้ยงปลาให้มีคุณภาพ ต้องศึกษาว่าปลาสวยงามแต่ละชนิดเป็นอย่างไร เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาหมอสี ฯลฯ โดยการอ่านจากหนังสือ สอบถามผู้รู้จะเป็นนักวิชาการ ผู้มีความชำนาญก็จะทราบว่าปลาประเภทนั้น มีความสวยงามแค่ไหน การทำให้ปลามีคุณภาพนั้น เราต้องรู้ใจปลาก่อน ปลาก็จะเป็นไปตามที่เราต้องการ ถ้าเราเลี้ยงปลากัดแล้วเพาะลูกได้ ลูกปลากัดในระยะแรกเกิดมามองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น จึงต้องหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้เลี้ยงลูกปลาได้รอดและมีการเจริญเติบโต ปลาหางนกยูงก็เช่นเดียวกัน เมื่อออกลูกมาแล้วมีที่หลบซ่อนตัวหรือไม่ ซึ่งก็สามารถได้โดยนำตะกร้าหรือหญ้าแห้ง เชือกฟางฉีกฝอย ๆ ใส่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ จากนั้นจึงแยกลูกปลาออกมาอนุบาล ช่วงแรกต้องหมั่นสังเกตว่า ลูกปลานั้นมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เพื่อเลือกชนิดและขนาดอาหารให้เหมาะสม
สำหรับการอนุบาลลูกปลากัด บางคนก็ให้ไข่แดงซึ่งเป็นไข่แดงต้มสุก นำไข่แดงที่ต้มแล้วมาเพียงนิดเดียวผสมน้ำใส่ลงบนผ้าขาวบางให้ลูกปลากินทีละน้อย เพียง 1 หยด ต่อ 1 ครอก ส่วนการให้อาหารสำเร็จรูปต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพน้ำ ถ้าน้ำสกปรกลูกปลามีความไวต่อน้ำเสีย ก็จะทำให้ได้รับความเสียหายตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ส่วนปลาหมอสีลูกปลาที่ออกมาค่อนข้างโตจะกินอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ปกติลูกปลาต้องการอาหารที่มีชีวิต คือไรแดง นำไรแดงมาล้างให้สะอาด แช่ด่างทับทิม 5 พีพีเอ็ม (5 มิลลิกรัม / น้ำ 1 ลิตร) นำไรแดงที่ลอยตัวขึ้นช้อนให้ลูกปลากิน หรือใช้ผ้าไนลอนแก้วกรองลูกไรที่รอดลงมา แล้วนำไปให้ลูกปลากิน ลูกปลาตัวเล็กบางท่านให้ไข่แดง สิ่งที่ตามมาคือน้ำเน่า การเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ไม่สะดวกต้องระมัดระวังและควรให้ปริมาณไข่แดงเพียงนิดเดียวเท่านั้น
ยุพินท์ : ในการอนุบาลลูกปลาจะเริ่มเปลี่ยนชนิดอาหารเมื่อใดและอาหารสำเร็จรูปนำมาเสริมให้ได้หรือไม่
ดร. อมรรัตน์ : ลูกปลาตัวเล็ก ๆ ถ้าอนุบาล 15 วัน รอดแล้วก็สามารถเลี้ยงต่อไปจนกระทั่งมีอายุ 30 วันลูกปลาที่มีชีวิตรอดได้นี้เรียกว่า ลูกปลาวัยอ่อน เมื่อผ่านช่วงลูกปลาวัยอ่อนระบบย่อยอาหารการหาอาหารกินและสายตาเริ่มดีขึ้น จึงเปลี่ยนอาหารโดยให้อาหารมีชีวิตสลับอาหารสำเร็จรูป อาทิ ไรแดง ลูกน้ำ หนอนแดง เป็นต้น สำหรับผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามบางรายที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ซึ่งมีฟาร์มเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมีย ถ้าเป็นการเลี้ยงปลาที่มีราคาแพงจะให้อาร์ทีเมียตัวใหญ่เป็นอาหารก็ได้ หากหาไม่ได้ก็สามารถดัดแปลงประเภทอาหาร เมื่อลูกปลาเติบโตขึ้นใช้อาหารผงปลาดุกวัยอ่อนโปรยให้กิน
ยุพินท์ : มีผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามบางรายให้ลูกปลากินอาหารกุ้งมีความเหมาะสมหรือไม่
ดร. อมรรัตน์ : ไม่เหมาะสม เพราะราคาอาหารแพงกว่าอาหารผงปลาดุกวัยอ่อนและเป็นการสิ้นเปลือง การอนุบาลลูกปลาสวยงามไม่จำเป็นต้องใช้อาหารกุ้ง
ยุพินท์ : การให้อาหารสำเร็จรูปในปริมาณที่มากเกินไปมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร
ดร. อมรรัตน์ : ผลกระทบจากการให้ปริมาณอาหารสำเร็จรูปมากเกินไปจะทำให้น้ำในบ่อเน่าเสีย เนื่องจากลูกปลากินอาหารไม่เหมด ส่นที่เหลือของอาหารจะเป็นประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ ดังจะเห็นได้ในแหล่งน้ำทิ้งของชุมชนซึ่งมักจะเกิดปัญหาน้ำเสียก็เพราะสาเหตุดังกล่าวเช่นกัน
ยุพินท์ : วิธีการสังเกตว่าปลากินอาหารเพียงพอแล้ว รวมทั้งวิธีฝึกการกินอาหารของปลา
ดร. อมรรัตน์ : การกินอาหารของปลา ใช้เวลา 15 นาทีก็อิ่มต่างจากกุ้งซึ่งมีรยางค์หยิบจับและใช้ขาหยิตอดอาหารทีละนิด ๆ ถ้าต้องการเลี้ยงปลาสวยงามแต่ไม่สะดวกในการให้ไรแดง และอาหารมีชีวิต ก็ต้องมีเทคนิคโดยดูว่าปากปลาเป็นอย่างไร เป็นประเภทปลาที่กินอาหารพื้นล่าง กลางน้ำ ผิวน้ำ สำหรับอาหารปลาดุกเล็กเป็นอาหารลอยน้ำ ก่อนให้ปลากินนำอาหารเม็ดมาผสมน้ำ อาหารสำเร็จดังกล่าวมีส่วนผสมของสารที่ทำให้เหนียว เมื่อผสมกับน้ำจะมีลักษณะเหนียว จากนั้นจึงปั้นเป็นเม็ดเท่าหัวนิ้วโป้งนำไปแตะไว้ที่ขอบบ่อตรงรอยต่อของน้ำ หลังจากที่ลูกปลาคุ้นเคยกับบริเวณที่ให้อาหาร ก็จะมากินอาหารตามปกติ ซึ่งก็จะสังเกตได้ว่า ลูกปลากินอาหารเพียงพอแล้ว หรือปริมาณอาหารที่ให้มากเกินไป
ยุพินท์ : ปริมาณอาหารและจำนวนครั้งที่ให้ลูกปลาในแต่ละวัน
ดร. อมรรัตน์ : เพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น จะสมมุติว่ามีปลารวม 100 กรัม ปริมาณที่ให้วันละ 2 - 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นช่วงอากาศเย็นในฤดูหนาวต้องลดปริมาณอาหารสำหรับปลาที่กินอาหารอย่างสม่ำเสมอปลาก็จะมีคุณภาพ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ศึกษา อ่านตำราทั้งในประเทศและต่างประเทศกล่าวไว้ว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปลามีความสวยงาม เพราะปลาได้กินอาหารวันละ 5 มื้อ เช่นที่ประเทศญี่ปุ่น เกษตรกรซึ่งเลี้ยงปลาหางนกยูงได้ให้อาหารปลาวันละ 5 ครั้ง ลักษณะเช่นนี้ก็คล้าย ๆ กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาทองของไทยที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเลี้ยงปลาทองให้มีความสวยงามทั้งรูปร่างและสีสันได้เล่าว่าเขาให้อาหารปลาทองวันละ 5 มื้อเริ่มตั้งแต่ 05.00 น. เป็นต้นไปคือ (1) เช้า (2) สาย (3) บ่าย (4) เที่ยง (5) เย็น
ยุพินท์ : การเลี้ยงปลาให้สวยงามและมีคุณภาพจะช่วยให้เกิดผลดีมากน้อยเพียงใด
ดร. อมรรัตน์ : สิ่งที่พึงปรารถนาของผู้เลี้ยงปลาสวยงามซึ่งมิใช่นำผลมาเพื่อการบริโภค แต่เป็นการสร้างเสริมความสุขสันต์ให้แก่ครอบครัว สำหรับผู้ขายปลาถ้าปลามีความสวยงามมากก็จะส่งผลให้มีราคาดี การให้เวลากับปลาที่เลี้ยงในเรื่องอาหารวันละ 5 มื้อ ปลาก็จะได้คุณภาพ ถ้าไม่มีเวลาก็ให้วันละ 2 ครั้ง คือตอนเช้าหนึ่งครั้งและตอนเย็นอีกหนึ่งครั้ง
ยุพินท์ : นอกจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามจะต้องมีเวลาเอาใจใส่ดูแลแล้ว ยังต้องเป็นคนที่มีคุณลักษณะอื่นอีกหรือไม่
ดร. อมรรัตน์ : คุณลักษณะอื่นนอกจากการเอาใจใส่ดูแลและให้เวลาแล้วผู้เลี้ยงปลาสวยงามต้งอเป็นคนช่างสังเกต เช่น ปลาที่มีรูปร่างทรงกลม ถ้าระดับน้ำที่ปลาอยู่มีมากเกินไป ปลาก็ต้องว่ายน้ำมาก ทำให้รูปร่างปลาเพรียว ฉะนั้นต้องลดระดับน้ำให้ตื้น แต่สำหรับบ้านเราซึ่งเป็นเมืองร้อน ต้องนำสแลนมาคลุมบังมิให้แสงแดดส่องมากนัก ปลาก็จะสวยงาม มีสุขภาพสมบูรณ์ดี ถึงแม้ว่าอุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม
เพื่อให้การเลี้ยงปลาซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตได้มีคุณภาพที่ดีนั้น ผู้เลี้ยงต้องหมั่นศึกษาหาความรู้โดยอ่านหนังสือตำราเพิ่มพูนความรู้และต้องรู้ใจ พร้อมทั้งมีความพากเพียร เป็นคนช่างสังเกตก็จะทำให้ปลามีผลผลิตที่ดี ซึ่งความงดงามนี้เราสามารถแบ่งปันให้แก่เพื่อนบ้าน หรือจะเลี้ยงเพื่อจำหนายเป็นผลผลิตช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง
ยุพินท์ : ทำไมปลาสวยงามซึ่งซื้อมาแล้วเลี้ยงไประยะหนึ่งสีจึงไม่สวย เป็นเพราะเหตุใด
ดร. อมรรัตน์ : กรณีที่มีการกล่าวกันว่า ปลาสวยงามที่ซื้อมามีสีสันงดงามแต่เมื่อเลี้ยงไประยะหนึ่ง ปรากฏสีเริ่มจืดจางไป เพราะปลาตัวนั้นได้รับสารเร่งสี ซึ่งเรียกกันว่า ปลาย้อมหรือปลาเร่งสี สำหรับปลาตัวผู้ ผู้เลี้ยงจะไม่ทำการย้อมสี เนื่องจากราคาฮอร์โมนค่อนข้างแพงแต่เขาจะย้อมปลาตัวเมียให้เป็นปลาหมัน
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายในการซื้อปลาที่จะนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ ผู้เพาะต้องไปซื้อพ่อแม่พันธุ์ที่ฟาร์มจะดีกว่า
ยุพินท์ : ฮอร์โมนที่ให้ปลากินเป็นชนิดใด
ดร. อมรรัตน์ : เมทธิลเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่ผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามนำมาให้ปลาตัวเมียกินซึ่งจะทำให้ปลามีสีสันสวยงาม เช่นปลาหมอสี ปลากระดี่แดง ฯลฯ ก็ใช้สารเร่งสีและฮอร์โมน
ยุพินท์ : การใช้สารเร่งสีจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ดร. อมรรัตน์ : อยากจะขอร้องคนที่ใช้สารเร่งสีปลาเป็นประจำ เพราะปลาที่กินสารเร่งสีก็เปรียบเสมือนคนรับประทานแครอททุกวัน จะทำให้มือเหลือง ตาเหลือง ปลาก็เช่นเดียวกัน ถ้าได้รับสารเร่งสีมาก ๆ ก็จะไปเกาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในบริเวณที่มีไขมันทำให้เกิดสี หากใช้สีพื้นบ้านก็ให้ผลที่ดีได้เช่นกันอาทิ แครอท พืชตระกูลถั่ว ผักขม มะละกอ ทานตะวัน ฯลฯ แต่มีปลากลุ่มหนึ่งคือ ปอมปาดัวร์ ซึ่งต้องให้คาโรฟิลล์ พิงค์ (Corophyll Pink) เป็นสารที่มีราคาแพงมาก ราคากิโลกรัมละ 8,000 - 10,000 บาท
ยุพินท์ : สารเร่งสีที่ให้ปลากินสีสันนั้นมีความคงทนมากน้อยเพียงใด
ดร. อมรรัตน์ : ผู้เลี้ยงปลาสวยงามส่วนใหญ่จะใช้สารเร่งสีใส่ในอาหารให้กินวันละ 2 ครั้ง ซึ่งจะมีผลได้นาน 15 วัน สำหรับเปลือกกุ้งที่นำไปผสมอาหารก็มีส่วนช่วยเร่งสีให้ปลาสวยงามได้ผลที่ดีเช่นกัน โดยนำมาบดให้ละเอียดเสียก่อน แล้วนำไปผสมกับอาหารให้ลูกปลากิน บางคนนำสีผสมอาหารสำหรับคนบริโภคมาผสมกับอาหารให้ปลากินก็ต้องดูว่าสารนี้ละลายในไขมันจึงใช้ได้แต่ถ้าละลายในน้ำอย่านำมาใช้เพราะจะทำให้สื้นเปลืองเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 มกราคม 2565 เวลา 04:36

    NFL Picks Against The Spread - Ride of the Week 메리트 카지노 주소 메리트 카지노 주소 카지노 카지노 9731Super Jackpot Party Slot Machine Online Free Play

    ตอบลบ