วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ขั้นตอนการปรับสภาพสำหรับปลา (และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ) ใหม่

ขั้นตอนการปรับสภาพสำหรับปลา (และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ) ใหม่

การปรับสภาพน้ำในถุงของปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่คุณจะนำมาใส่ลงในตู้ปลานั้นสำคัญมาก เพราะความเค็ม, อุณหภูมิ และตัวแปรอื่นๆในน้ำที่มากับถุงนั้นอาจจะแตกต่างไปจากในตู้ของคุณ ดังนั้นการปรับสภาพจะช่วยให้ปลาค่อยๆปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ลดอาการเครียดซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ


1. ปิดไฟภายในตู้

2. หรี่ไฟภายในห้อง อย่าเปิดถุงปลาในที่ๆมีแสงสว่างจ้า เพราะจะทำให้ปลาเครียดจัดได้

3. ล้างถุงให้สะอาดก่อนเปิดและลอยถุงไว้ในตู้เป็นเวลา 15 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิภายในถุงให้เข้ากับอุณหภูมิภายในตู้ปลา

4. หลังจากลอยถุงไว้ 15 นาทีแล้ว นำถุงมาใส่ในภาชนะที่พอดีกับทรงถุง เปิดถุงและพับขอบลง

5. ดูดเอาน้ำจากตู้ปลาลงมาสู่ในถุง โดยใช้สายยางขนาด (0.5 ซม.) เล็กติดก๊อก ปรับก๊อกให้น้ำค่อยๆหยดลงในถุงประมาณนาทีละ 60 - 120 หยด หรือมากกว่าสำหรับถุงใหญ่ เมื่อน้ำเต็มถุง เทน้ำออกครึ่งหนึ่งแล้วหยดน้ำต่อจนเต็มถุง

6. ใช้มือหรือกระชอนตักปลา (หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ) ออกมาจากถุงและปล่อยลงในตู้ ระวังอย่าให้น้ำในถุงลงไปในตู้

7. ทิ้งน้ำที่ใช้ในการปรับสภาพและถุง อย่านำมาใช้อีก

คำแนะนำ
  • ใจเย็น - อย่ารีบทำ การปรับสภาพควรจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
  • ทำตามขั้นตอนการปรับสภาพสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูเหมือนกับตายแล้ว สัตว์บางชนิดจะฟื้นได้ถ้าหากทำตามขั้นตอนดังกล่าว
  • ห้ามใส่หินทรายให้อากาศลงในถุง เพราะจะทำให้ pH เปล่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแอมโมเนียจะสูงขึ้น
  • ปิดไฟในตู้ไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง หลังจากใส่น้องใหม่ลงในตู้
  • เทียบกับปลาแล้ว สัตว์ไร้กระดูกสันหลัง, ปะการัง, และสาหร่ายจะไวกว่า ต่อการเปลี่ยนแปลงของความเค็มน้ำ ดังนั้นควรปรับ Specific gravity ให้อยู่ในระดับประมาณ 1.025 เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมา
  • ในบางกรณีปลาในตู้อาจจะแสดงนิสัยดุร้ายและไล่กัดปลาใหม่ ซึ่งก็แก้ไขได้โดยการตักปลาที่สร้างปัญหาออกใส่กล่องกักปลาหรือใช้มุ้งลวดพลาสติกกั้นปลาเหล่านั้นให้อยู่ในอีกฟากหนึ่งของตู้ เพื่อให้ปลาใหม่มีโอกาสสร้างความคุ้นเคยกับบ้านใหม่ อย่าใส่ปลาใหม่ลงในกล่องกักปลาเพราะจะเพิ่มความเครียดและจะทำให้มันใช้เวลาปรับตัวนานขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

การดูแลทั่วไป

การดูแลทั่วไป
การดูแลประจำวัน
  • ให้อาหาร
    การให้อาหาร เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เลี้ยงได้ตรวจสอบสภาพโดยรวมของสัตว์ต่างๆ รวมไปถึง การกิน และการอยู่ร่วมกับสัตว์อื่นๆ ควรจะสังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมในการกินของปลาอย่างไรบ้าง และการอยู่ร่วมกับปลาตัวอื่นๆ บางบางตัวขี้อาย (กลัว) และอาจจะไม่ยอมออกมากินอาหารในขณะที่ปลาตัวอื่นแย่งกันกิน ในสถาณการแบบนี้คุณก็ควรที่จะทดลองให้อาหารใน 2 ที่พร้อมกันเพื่อลดการแย่งอาหาร
  • อุณหภูมิ
    ตรวจดูอุณหภูมิอย่างน้อยวันละครั้ง ให้แน่ใจว่า Chiller หรือ Heater ยังทำงานเรียบร้อยอยู่
  • ระบบไหลเวียนของน้ำ
    ตรวจสอบและฟังเสียงหัวเป่าน้ำหรือปั๊มดูอย่างคร่าวๆ การที่อุปกรณ์เหล่านี้เดินเงียบผิดปกติ อาจแปลว่ามันเสียหรือไฟฟ้าดับ
  • เติมน้ำทดแทนที่ระเหยออก
    เนื่องจากความเร็วของการระเหยขึ้นอยู่กับอากาศและขนาดของตู้ คุณอาจจะต้องเติมน้ำทดแทนส่วนที่ระเหยออกไปทุกวัน อย่าลืมใช้น้ำจืดนะครับ เพราะว่าเกลือระเหยช้ากว่าน้ำมาก ถ้าคุณใช้น้ำทะเลเติม คุณจะพบว่า Specific Gravity จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
การดูแลประจำอาทิตย์
  • ตรวจสอบคุณภาพน้ำ
    หลังจากที่ตู้มีอายุประมาณ 5 - 6 เดือน คนส่วนใหญ่มักจะขี้เกียจวัด Ammonia และ Nitrite จนกระทั่งเกิดปัญหา และก็อย่าลืมว่า Nitrate คือผลลัพของกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพและควรจะวัดค่าของมันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแก้ไขก่อนเกิดปัญญหา
  • Alkalinity และ pH มักจะลดลงเมื่อ Nitrate สูงขึ้น จึงควรตรวจสอบเพื่อคุณจะได้รู้ว่าต้องเพิ่ม buffer หรือทำการเปลี่ยนน้ำหรือไม่ ในตู้ที่มีปะการังก็ควรตรวจปริมาณของ Calcium ในน้ำด้วย
  • Specific Gravity
    ความเค็มของน้ำควรได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอและปรับเมื่อจำเป็น การเติมน้ำทดแทนด้วยน้ำจืดเป็นการปรับ Specific Gravity ให้ลดลง และน้ำทะเลให้ Specific Gravity เพิ่มขึ้น
  • ทำความสะอาดแผ่นกรอง
    ฟองน้ำ แผ่นไยแก้ว และที่กรองต่างๆ ควรได้รับการตรวจสอบดูว่าสกปรกหรือมีการอุดตันหรือไม่
การดูแลประจำเดือน
  • เปลี่ยนน้ำ
    ควรจะเปลี่ยนน้ำครั้งละประมาณ 25% และทำความสะอาดตู้กรอง ใช้น้ำทะเลที่ผสมไว้อย่างนอ้ยหนึ่งวันโดยทำให้ Specific Gravity อุณหภูมิและpH ใก้ลเคียงน้ำเก่าให้ได้มากทีสุด
  • ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ
    ตรวจสอบ Chiller/Heater ว่ามีรอยร้าวรอยรั่ว สนิม ฯลฯ หรือไม่ ทำความสะอาด Skimmer และ อุปกรณ์อื่นๆ
การดูแลทุกครึ่งปี
  • ตรวจสอบไฟ
    หลอดไฟทุกประเภทมีอายุการใช้งานแตกต่างกัน และถึงแม้หลอดจะยังไม่ขาดมันก็จะสูญเสียความสว่างไปมาก ควรจะทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตหลอดไฟ (หลอดไฟทั่วไปมีอายุการใช้งานประมาณหนึ่งปี)
  • เพิ่มทรายและหิน
    หินและทรายอาจจะลดลงไปบ้างเพราะปฎิกิริยาทางเคมีและการเปลี่ยนน้ำ ดังนั้นจึงควรตรวจระดับหินกับทรายและเพิ่มตามความจำเป็น
  • ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ
    อุณหภูมิควรจะอยู่ที่ประมาณ 27 - 29 C แต่ที่สำคัญกว่าก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ถ้าคุณพบว่าตู้คุณมีอุณหภูมิ 31 C อย่าใส่น้ำแข็งลงในตู้เพื่อทำให้อุณหภูมิลดลงภายในทันที คุณควรจะปิดไฟตู้ เปิดฝา หรือเปิดพัดลม เพื่อให้น้ำค่อยๆเย็นลง ทางที่ดีก็ควรเปิดพัดลม ในช่วงที่ร้อนหรือลงทุนซื้อ Chiller เพื่อทำให้อุณหภูมิคงที่อยู่ตลอดเวลา การที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงประมาณ 1 - 2 C อย่างช้าๆภายในหนึ่งวันเป็นเรื่องธรรมดา

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

การเลือกซื้อสัตว์

การเลือกซื้อสัตว์
ปลา

เวลาเลือกซื้อปลาควรดูว่าปลามีสุขภาพดีและไม่เป็นโรค ถ้าคุณทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ คุณจะลดความเสี่ยงที่ปลาเป็นโรคหรือตายลงได้มาก

  • สภาพโดยรวมของตู้เป็นอย่างไร?
    เช็คดูว่าปลาตัวอื่นในตู้เดียวกันเป็นโรคหรือไม่? น้ำในตู้ร้อนเกินไปหรีอเปล่า? ถ้าปลาในตู้ส่วนใหญ่เป็นโรค ก็จะมีโอกาสสูงมาก (95%) ที่ปลาที่คุณเล็งอยู่จะเป็นโรคด้วย
  • ปลาเริ่มกินอาหารแล้วหรือยัง?
    ปลาที่พึ่งมาใหม่อาจจะเครียดและไม่ยอมกินอาหาร คุณควรจะให้คนขายป้อนอาหารให้ดู และควรจะซื้อปลาที่เริ่มกินแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะปลา Tang, Butterfly และ Angel
  • ปลาเป็นโรคหรือเปล่า?
    ผิวปลาไม่ควรมีจุดสีขาว จั้มแดงๆ หรือเนื้อเปื่อยยุ่ย ตาควรจะใสไม่พร่ามัว
  • ปลามีสุขภาพดี
    ควรจะเลือกปลาที่ตัวอ้วน ปลาที่ไม่แข็งแรงบริเวณข้างหลังตาจะผอม ควรมีสีสันสดใส ปลาหลายชนิดเวลาตกใจสีจะซีดลง แต่ไม่ใด้แปลว่ามันไม่แข็งแรง และท้ายที่สุด ปลาควรจะมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นจากคุณ ลองเอามือโบกหรือเคาะบนกระจกตู้เบาๆ ถ้าปลาไม่หนีหรือไม่ว่ายเข้ามาหรือไม่แสดงปฎิกริยาใดๆ อาจหมายความว่าปลาตัวนั้นมีปัญหาที่ยากจะแก้ได้
สัตว์ไร้กระดูกสันหลัง
  • ศึกษาก่อนว่ามันเลี้ยงง่ายหรือยาก และมีความต้องการแสงหรืออาหารมากแค่ไหน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นอย่างไร
  • อย่าซื้อเพราะมันท้าทาย, หายาก, แปลก, หรืออยากลอง ซื้อเฉพาะชนิดที่คุณรู้ว่าคุณสามารถเลี้ยงได้
  • ควรดูให้แน่ใจว่าไม่มีเนื้อฉีกขาด
  • สีสันสดใส ถ้าหากปะการังมีสีซีดอาจแปลว่ามันใด้ฟอกสีไปแล้ว และมีความเสี่ยงต่อการตายสูง
  • เลือกเฉพาะที่ติดมากับหิน เพราะจะง่ายต่อการหยิบ และวางลงในตู้

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

การดูแลรักษาคุณภาพน้ำ

การดูแลรักษาคุณภาพน้ำ
Ammonia - แอมโมเนีย

แอมโมเนียหรือ NH3 เป็นหนึ่งในสารที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน (Nitrogen compound) ซึ่งเป็นของเสียที่ถูกขับถ่ายออกจากปลาและสิ่งมีชีวิตต่างๆ และเป็นพิษมากต่อปลาและสัตว์ไร้กระดูกสันหลัง มันสามารถจะกำจัดได้ด้วยแบคทีเรีย (Nitrifying Bacteria) ภายในตู้ปลา ซึ่งจะย่อยสลาย NH3 ให้กลายเป็นสารไนไตรท์

NH3 -> Nitrifying Bacteia -> NO2

สาหร่าย zooxanthellae ในปะการังก็มีส่วนในการซึมซับ NH3 เพื่อใช้เป็นปุ๋ย แต่ก็ใช้ในปริมาณที่น้อยมาก

เพราะฉะนั้นระดับ NH3 ในตู้ปลาควรจะวัดได้ศูนย์ (หรือระดับต่ำสุดที่สามารถวัดได้) ถ้าหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับตู้หรือมีปลาตายโดยไร้สาเหตุ คุณควรจะวัดระดับแอมโมเนียเป็นขั้นตอนแรก

Nitrite - ไนไตรท์

ไนไตรท์หรือ NO2 ก็เป็นอีกหนึ่งของสารที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกันกับ NH3 แบคทีเรียภายในตู้ปลา (Nitrifying Bacteria) จะย่อยสลาย NO2 ให้กลายเป็นไนเตรต

NO2 -> Nitrifying Bacteria -> NO3

ระดับ NO2 ในตู้ปลาควรจะวัดได้ศูนย์ (หรือระดับต่ำสุดที่สามารถวัดได้)

Nitrate - ไนเตรต

ไนเตรตหรือ NO3 เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของกระบวนการย่อยสลายสารที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน NO3 ในปริมาณที่ต่ำจะไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์โดยทั่วไป แต่มันก็เป็นปุ๋ยที่สามารถสร้างปัญหาตะไคร่ในตู้ปลาได้และจะทำให้การปะการังแข็งโตช้า

แบคทีเรีย (Denitrifying Bacteria) ที่สามารถย่อยสลาย NO3 ให้เป็นก๊าซ ไนโตรเจน (N) มีความแตกต่างกับ Nitrifying Bacteria ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นมาก เพราะมันจะอยู่ได้ในพื้นที่ๆมีปริมาณอ๊อกซิเจนต่ำเท่านั้น

NO3 -> Denitrifying Bacteria ->ก๊าซ N (ระเหยออกจากระบบ)


NO3 -> Denitrifying Bacteria ->ก๊าซ N (ระเหยออกจากระบบ)

ในตู้ปลาที่ใช้ระบบกรองแบบธรรมชาติ เช่นการใช้หินเป็นและพื้นทรายที่หนามากกว่า 4 นิ้ว จะสามารถการกำจัด NO3 ได้ดีกว่าระบบที่ใช้ Bio - ball เพราะอัตราในการกำจัดสารต่างๆจะมีความสมดุลย์กัน ในระบบที่ใช้ Bio - ball NH3 และNO2 จะถูกย่อยสลายอย่างรวดเร็วมากจน Denitrifying Bacteria ไม่สามารถตามทันได้ จึงทำให้เกิดการสะสมของ NO3 ในกรณีนี้ การเปลี่ยนน้ำเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกำจัด NO3

ถึงแม้มันจะไม่เป็นพิษภัยมากนัก เราก็ควรจะควบคุมไม่ให้ปริมาณของ NO3 สูงผิดปกติ ระดับของ NO3 ไม่ควรจะสูงกว่า 10 ppm (2.3 mg NO3-N/L) แต่ถ้าไม่มีเลยก็จะยิ่งดี



Phosphate - ฟอสเฟต

แนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์จะมีฟอสเฟต (PO4) ในปริมาณที่จำกัดมาก แต่ในตู้ปลาของเรากลับตรงกันข้าม การให้อาหารและจำนวนปลาที่แออัดสามารถทำให้ PO4 สะสมจนมากผิดปกติได้ ซึ่งจะทำให้ปะการังแข็งไม่สามารถตกผลึก calcium carbonate ได้ตามปกติเป็นผลให้การเจริญเติบโตช้าลง และยังเป็นปุ๋ยให้กับตะไคร่อีกด้วย

ปริมาณของ PO4 ในน้ำไม่ควรจะมากกว่า 0.3 ppm

pH

pH เป็นการวัดความเป็นกรดหรือด่างของน้ำในเสกล 0 (เป็นกรดมากที่สุด) ถึง 14 (เป็นด่างมากที่สุด)

เราควรจะทำให้ pH ของตู้นั้นใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 8.2 - 8.4 pH จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยจะมีค่าสูงสุดในช่วงที่มีแสงไฟและการสังเคราะห์แสงเกิดขึ้นมากที่สุด (ตอนเย็นก่อนปิดไฟ) และต่ำสุดในตอนเช้าก่อนเปิดไฟ pH อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ถึงประมาณ 8 - 8.6 ในแต่ระบบ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ปัญหาที่น่าเป็นห่วง

ในระยะยาว pH ของตู้มีแนวโน้มที่จะลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น เพราะว่าการหายใจจะทำให้เกิด carbon dioxide และของเสียของสัตว์ในตู้มักจะเป็นกรด เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการเติม Kalkwasser (Calcium Hydroxide) ลงไปเพื่อเพิ่ม Alkalinity

Alkalinity

Alkalinity สำคัญมากสำหรับตู้ปลาทะเล เพราะมันจะบ่งบอกถึงความสามารถในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของ pH ในน้ำ Alkalinity ที่สูงกว่าจะทำให้ pH เปลี่ยนแปลงน้อยลงและมีเสถียรภาพมากขึ้น เราสามารถวัด Alkalinity ได้ในสองหน่วยคือ meq/L หรือ dKH (meq/L x 2.8 = dKH)

Alkalinity ของน้ำทะเลจะอยู่ประมาณ 2.5 meq/L แต่เพราะจำนวนสิ่งมีชีวิตที่แออัดในตู้ปลา เราจึงควรควบคุม Alkalinity ให้อยู่ในระดับประมาณ 3.2 - 4.5 meq/L

การเพิ่ม Alkalinity สามารถทำได้โดยการผสมสารเคมีเช่น Kalkwasser (Calcium Hydroxide) หรือ Sodium bicarbonates กับน้ำแล้วค่อยๆเติมลงทีละน้อยหลายๆครั้ง อย่างช้าๆ(มาก) เวลาเติมควรระมัดระวังอย่างมากเพราะสารเคมีเหล่านี้สามารถทำให้ pH เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วซึ่งอาจทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้

อุณหภูมิ

ควรจะควบคุมให้อุณหภูมิเหมือนกับแนวปะการังในธรรมชาติ ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 27 - 29 C

อ่านเพิมเติมได้ใน ความเค็มและอุณหภูมิของน้ำทะเลในแนวปะการัง

ความเค็ม

เราสามารถวัดระดับความเค็มได้โดยการวัดปริมาณของธาตุต่างๆที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเกลือ และวัดในหน่วย parts per thousand หรือ ppt น้ำทะเบจะมีความเค็มประมาณ 35 ppt โดยเฉลี่ย

การจะวัดความเค็มนั้นทำได้ยากมากและต้องอาศัยเครื่องมือราคาแพง ดัวนั้นเราจึงหันมาวัด specific gravity หรือความถ่วงจำเพาะ ซึ่งเป็นการวัดความเค็มทางอ้อม specific gravity ของน้ำทะเลจะอยู่ประมาณ 1.025 - 1.026 (เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ)

อ่านเพิมเติมได้ใน ความเค็มและอุณหภูมิของน้ำทะเลในแนวปะการัง

Calcium - แคลเซี่ยม

แคลเซี่ยม (Ca) เป็นธาตุที่สำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของปะการังแข็ง ปะการังจัซึมซับ Ca จากน้ำลงไปยังเนื้อเยื่อและสกัดออกมาเป็นกระดูกหินปูน ปริมาณ Ca ในตู้ปลาที่มีปะการังแข็งอยู่เป็นจำนวนมากจะลดลงได้อย่างรวดเร็วถ้าหากไม่คอยเติมเพิ่ม น้ำทะเลในแนวปะการังตามธรรมชาติจะมี Ca อยู่ประมาณ 400 - 420 ppm เพราะฉะนั้น Ca ในตู้ปลาควรจะอยู่ที่ 400 ppm เป็นอย่างต่ำ โดยที่ระดับ 450 ppm จะดีที่สุด

Ca จะอิ่มตัวในน้ำที่ระดับ 500 ppm หากมากกว่านี้ หากใส่เพิ่มหรือเติมเร็วเกินไปมันจะตกตะกอนออกจากน้ำทันที และจะทำให้ดูเหมือนกับว่ามีหิมะตกอยู่ในตู้ การเพิ่ม Ca ในน้ำมีอยู่หลายวิธี:

Kalkwasser

เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด มันคือผง Calcium Hydroxide ผสมกับน้ำจืด รอจนกระทั่งตกตะกอนแล้วจึงค่อยๆใส่ลงในตู้อย่างช้าๆ(มาก) แทนน้ำที่ระเหยออกไป นอกจากจะเพิ่ม Ca แล้ว มันยังช่วยเพิ่ม Alkalinity ให้อีกด้วย

ส่วนผสม 2 ส่วน

ประกอบไปด้วย carbonate และ calcium เข้มข้นในรูปแบบน้ำ ซึ่งจะบรรจุแยกขวด เวลาใช้ก็ต้องเติมทั้งสองอย่างผลัดกัน ลงในตู้อย่างช้าๆ

Calcium Chloride

สามารถเพิ่ม Ca ในน้ำได้อย่างรวดเร็ว แต่มันจะทำให้เกิดการสะสมของ Chlorine ซึ่งจะทำให้ Alkalinity ลดลงได้

Calcium Reactor

เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเพิ่ม Ca ให้กับน้ำ โดยการใช้ก๊าซ Carbon Dioxide ทำให้น้ำเป็นกรดอ่อนๆเพื่อไปละลายหินปูน Calcium carbonate